พิมพ์
Font Size


19 มี.ค.64 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กรายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก 19 มีนาคม 2564 มีเนื้อหาดังนี้

ทะลุ 122 ล้านไปแล้ว ในขณะที่ตุรกีกำลังเจอระลอกสามที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเกินสองหมื่นคนต่อวัน สูงสุดในปีนี้ คาดว่าเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 632,764 คน รวมแล้วตอนนี้ 122,302,490 คน ตายเพิ่มอีก 12,902 คน ยอดตายรวม 2,700,929 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 64,441 คน รวม 30,347,354 คน ตายเพิ่มอีก 1,667 คน ยอดตายรวม 551,959 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 171,219 คน รวม 11,780,820 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 39,999 คน รวม 11,513,945 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 9,803 คน รวม 4,428,239 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 6,303 คน รวม 4,280,882 คน  
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ตุรกี และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน

เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเมียนมาร์ สิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง กัมพูชา และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่จีน และเวียดนาม ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...อัพเดตเรื่องการทบทวนความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ชนิดหนึ่ง ของ European Medicines Agency (EMA)
ทาง EMA เพิ่งถ่ายทอดสดการแถลงผลสรุปทบทวนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนเมื่อคืนนี้ มีสาระสำคัญดังนี้

หนึ่ง โดยรวมแล้ววัคซีนนี้ยังถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้ผลและมีความปลอดภัย โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

สอง จากการทบทวน พบว่ามีการฉีดวัคซีนนี้ในยุโรปไป 20 ล้านคน โดยมีภาวะลิ่มเลือดแพร่กระจาย (Disseminated intravascular coagulation: DIC) จำนวน 7 คน และมีภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis) จำนวน 18 คน

สาม ทั้งนี้ภาวะ DIC และ venous sinus thrombosis นั้น มีความเชื่อมโยงกับการใช้วัคซีน แม้จะไม่สามารถฟันธงว่าวัคซีนเป็นสาเหตุโดยตรงก็ตาม แต่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้น (possible risk) และจำเป็นต้องมีการติดตามและศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนต่อไป

สี่ แนะนำให้ระบุความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวข้างต้นในเอกสารกำกับการใช้วัคซีน และจำเป็นต้องให้ข้อมูลนี้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่จะมารับวัคซีน เพื่อเป็นมาตรการเตือน ให้ได้รับทราบความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ (possible adverse effect) หากจะตัดสินใจรับวัคซีนนี้

ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนที่ดี โดยเราสามารถเรียนรู้ได้ว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นมีกระบวนการมาตรฐานในการพิจารณาติดตามและทบทวนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญมากกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ไม่กระทำการแบบเร่งด่วนที่จะรีบใช้รีบสรุป ตราบใดที่ยังไม่แน่ใจในข้อมูลวิชาการที่ถี่ถ้วนจริง

การตัดสินใจรับหรือไม่รับวัคซีนใดๆ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกคน เราจำเป็นจะต้องรู้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง รู้รายละเอียดต่างๆ ของวัคซีนว่ามีสรรพคุณอย่างไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ก่อนตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมุ่งหน้าจัดซื้อจัดหา หรือเปิดทางให้มีวัคซีนที่หลากหลายมาใช้ในประเทศของตน โดยเน้นการหาวัคซีนที่มีสรรพคุณสูง และปลอดภัย เพราะเป็นการพิสูจน์ถึงความจริงใจ ความมุ่งมั่น และความสามารถในการจัดการกับปัญหาโรคระบาดอย่างแท้จริง

สรรพคุณของวัคซีนควรสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ป้องกันการเจ็บป่วยได้ ลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้ และสามารถป้องกันกับไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ โดยมีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้อย่างชัดเจน
สถานการณ์ในไทยเรายังคงมีการระบาดกระจายไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ปลอดภัย ขอให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

หากทางเลือกในการป้องกันยังมีจำกัด และไม่แน่ใจในทางเลือกที่มีเหล่านั้น หนทางที่จะป้องกันโรคได้ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยวพบปะสังสรรค์ เลี่ยงที่แออัดและที่อโคจร นอกจากนี้คือการร่วมกันเรียกร้องให้เกิดช่องทางนำเข้าวัคซีนป้องกันอื่นๆ เข้ามาเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยรักและปรารถนาดี

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96548