พิมพ์
Font Size
 
 

9 ม.ค.64 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan โดยมีรายละเอียดดังนี้

วัคซีน covid 19 อาการข้างเคียงของวัคซีนผมในฐานะที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน ในอดีตมาร่วม 40 ปี

วัคซีนใหม่ ที่อยู่ระหว่างการวิจัย จะต้องถูกบันทึก อาการที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้น หลังการให้วัคซีนทั้งหมด จะต้องถูกบันทึก และแบ่งเป็นความรุนแรงน้อย ปานกลาง และมาก

อาการเฉพาะที่ เช่นบริเวณที่ฉีด หรืออาการทั้งระบบ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยล้า

ความรุนแรงมาก ถึงกับต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต

จะต้องประเมินตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน มากน้อยแค่ไหน หรือ ไม่เกี่ยวข้อง มากน้อยแค่ไหน

ผมเคยฉีดวัคซีนให้คนไข้ในงานวิจัย แล้วได้รับแจ้งว่าคนไข้เสียชีวิต แต่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ ก็ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง ต้องรายงานทันทีและสอบสวน อย่างรวดเร็วว่าเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ที่ฉีด อาจจะทำให้ง่วง หาวนอน แล้วเกิดอุบัติเหตุก็ได้ 

หรือ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วเดินออกนอกโรงพยาบาล ตกท่อ ก็ถือว่าเป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ ต้องตรวจสอบ เพราะวัคซีนอาจจะทำให้ตามัว เวียนศีรษะ แล้วเดินตกท่อก็ได้

ดังนั้นในวัคซีนใหม่เกือบทุกชนิดจึงต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน และมีผู้มีความรอบรู้ เป็นกลาง มาประเมินรวมด้วย 

ถึงแม้จะได้เริ่มนำมาใช้แล้วในช่วง 2 ปีแรก ก็ยังต้องมีการติดตามอาการข้างเคียง และ อาการไม่พึงประสงค์ต่อไป เพื่อหาอุบัติการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ 

วัคซีนใช้ป้องกันโรคกับคนปกติ จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อน ข้อมูลการศึกษาที่ต้องการ จึงเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ ในเรื่องของความปลอดภัย.

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/89265