พิมพ์
Font Size

โดย ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล"

มีหลายท่านสนใจเรื่องชนิดของวัคซีน COVID-19 จึงขอสรุปให้อ่านจบใน 2 นาทีนะคะ

ข้อมูล ณ วันที่ 23 ตุลาคม 2563 มีวัคซีน 48 ตัวที่เข้าทดสอบในมนุษย์แล้ว โดย
- อยู่ในระยะที่หนึ่ง 33 ตัว
- ระยะที่สอง 15 ตัว
- ระยะที่สาม 11 ตัว และในจำนวนนี้มี 6 ตัวขึ้นทะเบียนให้ใช้ในวงจำกัด

ชนิดของวัคซีนที่กำลังพัฒนามีหลายประเภท แต่หลักๆ ที่น่าจะเข้าวิน มี 4 กลุ่ม คือ
𝟏. 𝐈𝐧𝐚𝐜𝐭𝐢𝐯𝐚𝐭𝐞𝐝 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞 เป็นชนิดที่น่าจะมาไกลที่สุด คือเข้า phase 3 และได้เริ่มใช้แล้วในวงจำกัดที่ประเทศจีน เป็นของบริษัท Sinovac, Sinopharm, Wuhan Institute วัคซีนชนิดนี้ผลิตด้วยความยุ่งยากแม้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยี่ใหม่ เพราะต้องใช้ BSL3 facility เพื่อเพาะเลี้ยงเชื้อ และผลิตได้ไม่เร็ว แต่เป็นชนิดของวัคซีนที่น่าจะได้ผลดีเพราะเอาไวรัสทั้งตัวมาฆ่าให้ตาย จึงไม่มีข้อต้องกังวลใจมากนัก ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนอื่นๆมาก่อน เราจึงมีประสบการณ์ในการใช้วัคซีนประเภทนี้กับโรคอื่นๆ มามากมาย คาดว่าวัคซีนตัวนี้น่าจะเข้าสู่ท้องตลาดได้เร็วที่สุด แต่น่าจะมีราคาแพงที่สุด

𝟐. 𝐀𝐝𝐞𝐧𝐨𝐯𝐢𝐫𝐮𝐬 𝐯𝐞𝐜𝐭𝐨𝐫 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞 คือเอายีนของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ใส่เข้าไปในอะดีโนไวรัส ที่เด่นๆ คือ CanSino ของประเทศจีน ซึ่งใช้อะดีโนไวรัสสายพันธุ์ Ad5 ของคน, บริษัท Astra Zeneca ประเทศอังกฤษ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Oxford ใช้ไวรัสของชิมแพนซี, และ Gamaleya ของประเทศรัสเซีย ซึ่งใช้ Ad26+Ad5 และของ Johnson&Johnson ซึ่งใช้ Ad26

วัคซีนกลุ่มนี้เรามีประสบการณ์การใช้ในวงจำกัดและน่าจะได้ผลดี ถ้าไม่เคยติดเชื้ออะดีโนไวรัสสายพันธุ์ที่นำมาเป็นตัวนำพา (vector) มาก่อน แต่มีข้อเสียคือ ตัวอะดีโนไวรัสเองเป็น live virus vector เมื่อนำมาฉีดอาจก่อเรื่องได้ จึงเป็นวัคซีนชนิดที่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนที่แท้จริง แต่มีข้อดี คือ ไม่ต้องฉีดหลายเข็มก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี นอกจากนี้ในตอนที่ทดสอบวัคซีนที่ใช้ไวรัสชิมแพนซีพบว่า มีอาสาสมัครเกิดโรค transverse myelitis แต่ไม่ทราบว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือเกิดเพราะวัคซีน ทำให้ต้องหยุดการวิจัยชั่วคราว ที่สำคัญเรายังไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้วัคซีนประเภทนี้ในวงกว้างเลย

𝟑. 𝐦𝐑𝐍𝐀 𝐕𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞𝐬 ที่เด่นๆ คือ ของบริษัท Moderna ได้รับการสนับสนุนโดย US NIH ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำมาพัฒนา วัคซีนของบริษัท Moderna ได้เข้าสู่การวิจัยระยะที่ 3 แล้วและให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในคนปกติ รวมทั้งในผู้สูงอายุด้วย และยังมีอีกหลายบริษัทผลิตวัคซีนแบบนี้วิ่งตามมาติดๆ เช่น BioTech + Pfizer ของประเทศเยอรมันนี

วัคซีนประเภทนี้ใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ในมนุษย์มาก่อน มีข้อดีคือ ผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ด้วยความที่ไม่เคยมีใช้มาก่อนทำให้มีข้อกังวลใจว่า แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงจากการศึกษาระยะสั้น แต่ผลอันไม่พึงประสงค์ในระยะยาวจะมีได้หรือไม่

𝟒. 𝐏𝐫𝐨𝐭𝐞𝐢𝐧-𝐛𝐚𝐬𝐞𝐝 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞𝐬 ใช้เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนของเปลือกไวรัส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รู้จักกันดีอยู่แล้วเพราะมีการใช้ในวัคซีนอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบบี เป็นต้น มีการใส่ adjuvant ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผลิตได้รวดเร็ว บริษัทที่เด่นคือ Novavax ของประเทศอเมริกา ที่ตอนนี้เข้าสู่งานวิจัยระยะที่ 3 แล้ว ส่วนของที่ Sanofi จับมือกับ GSK ซึ่งเป็นสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการใช้เทคโนโลยีคล้ายคลึงกับการผลิตวัคซีนอื่นๆ ก็ยังอยู่ในการวิจัยทางคลินิกระยะที่2 และยังมีที่ผลิตในอีกมากมายกว่า 10 บริษัทในหลากหลายประเทศ

ในแง่ของประสิทธิภาพนั้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะเด่นกว่าใครในขณะนี้ แต่คาดว่าไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหนภูมิคุ้มกันอาจจะอยู่ได้ไม่นานมาก และน่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นเป็นระยะ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าต้องบ่อยแค่ไหน ทุกอย่างยังเป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องติดตามต่อไปเพราะเรายังไม่รู้จักไวรัสตัวนี้อย่างดีพอ

ถ้าถามว่า วัคซีนตัวไหนน่าจะออกขายก่อน ก็คิดว่า inactivated ของประเทศจีนน่าจะมาก่อน แต่ของรัสเซีย, ของ Oxford หรือของ Moderna ก็น่าจะออกขายในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นาน

SICRES โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความพร้อมทำวิจัยทดสอบคลินิกสำหรับวัคซีนทุกประเภทนะคะ

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
𝙎𝙞𝙧𝙞𝙧𝙖𝙟 𝙄𝙣𝙨𝙩𝙞𝙩𝙪𝙩𝙚 𝙤𝙛 𝘾𝙡𝙞𝙣𝙞𝙘𝙖𝙡 𝙍𝙚𝙨𝙚𝙖𝙧𝙘𝙝 (𝙎𝙄𝘾𝙍𝙀𝙎)
#SICRES #Siriraj #COVID19 #vaccine #clinicaltrial sirirajpr