พิมพ์
Font Size

ความมีอคติและความสุดโต่งในตัว อาจทำให้คนไทยด้วยกันไมเชื่อมั่น ว่าเราแต่ละคนมีลักษณะทั้งสองอย่างคือทั้งรักชาติและชังชาติในตัวคนเดียวกันได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เจรจาพูดคุยกันด้วยดี มีความดูถูกกันและเกลียดชังกัน จึงไม่เป็นผลดีต่อชาติเลย

🔸บทความ ดร.พัทธจิต อาจารย์ ประจำ มหาวิทยาลัย วาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ครับ 🔸

อะไรเรียก “รักชาติ” อะไรคือ “ชังชาติ”...เราอยู่กันคนละขั้วจริงหรือ?

โพสต์นี้เป็นการแปลเก็บความปาฐกถาเรื่อง “谈谈爱国” “ความรักชาติคืออะไร” ของ อาจารย์จือ จงอวิ๋น (资中筠) อจ. ชาวจีนผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ และประวัติศาสตร์ค่ะ...อจ. พูดถึงความรักชาติในบริบทของประวัติศาสตร์จีน แต่ประเด็นมันเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การเมืองไทยช่วงนี้เป็นอย่างยิ่ง เลยอยากจะเอามาเล่าต่อค่ะ (มีข้ามบ้าง สลับที่บ้าง เพิ่มเติมความคิดตัวเองเข้าไปบ้าง เพื่อความลื่นไหลในการอ่านนะคะ)
ปาฐกถานี้เริ่มต้นด้วยข้อสังเกตที่ว่า...หลายครั้ง วาทกรรมคำว่า “รักชาติ”(爱国) หลายครั้งถูกเอามาใช้ทำร้ายชาติ และเบียดเบียนประชาชนเสียเอง (祸国殃民)

อจ. จือ เริ่มด้วยคำถาม “เวลาคุณพูดว่ารัก ‘ชาติ’ คำว่า’ ชาติ’ หมายถึงอะไร” และก็เสนอว่า มีคำตอบอยู่ 3 ชั้น

ชั้นแรก คือ ชาติในความหมายของ “Country” หรือ “บ้านเกิดเมืองนอน ” ซึ่งเป็นความรู้สึกผูกพันในที่ที่ตัวเองเคยอยู่และเติบโต ความหมายชั้นแรกนี้ ไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง

ชั้นที่สอง คือรักชาติในฐานะของ “nation” คือรักและหวงแหนใน “ประวัติศาสตร์ และอารยธรรม 5000 ปี” ของชาติ...แต่ความรักแบบนี้ ก็ต้องไม่รักแบบงมงาย ไม่รักแบบสุดใจจน “โงหัวไม่ขึ้น” เพราะไม่อย่างนั้น ก็อาจจะเจอชะตาเดียวกันกับจีนช่วงสงครามฝิ่น ที่จีนหลงมองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางอารยธรรม มองประเทศอื่น ๆ ว่าเป็นพวกคนเถื่อน จนสุดท้ายกว่าจะรู้ตัวว่าพวก “คนเถื่อน” มีระดับอารยธรรมสูงกว่าตนหลายขุมนั้น ประเทศแทบไม่เหลืออะไรให้ชื่นชม...
ส่วนตัว ชอบประโยคนี้มาก “หากคุณไม่อ่านประวัติศาสตร์จีน จะไม่รู้ว่าจีนยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่หากคุณไม่อ่านประวัติศาสตร์ยุโรป จะไม่รู้ว่าจีนล้าหลังแค่ไหน " 不读中国史不知道中国的伟大,不读西洋史不知道中国的落后 " สุดท้ายแล้ว คุณต้องเรียนรู้ที่จะเปิดใจมองโลกจากแว่นของคนชาติอื่น ๆ...ความรักและความภูมิใจ มันต้องมาคู่กับการคิด วิเคราะห์ และเปรียบเทียบเสมอ...
.
ชั้นที่สาม คือ รักชาติในฐานะที่ชาติเป็น “state”...อันนี้ จะมีนัยยะของความเป็นสถาบันทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องละ แต่ก่อนสงครามฝิ่น concept เรื่อง state ยังไม่ชัด เพราะฉะนั้น ความรักชาติ คือความจงรักภักดีต่อสถาบันการเมืองสูงสุดในสมัยนั้น ซึ่งก็คือ “ราชสำนักชิง” นั่นเอง...

แต่สงครามฝิ่นไม่ได้เป็นเพียงแค่การปะทะกันทางกำลังระหว่างราชสำนักชิงกับอังกฤษเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการปะทะกันระหว่างความรู้และโลกทัศน์ของสองฝ่ายด้วย...หลังจากสงครามฝิ่น concept เรื่องชาติในฐานะ “modern state” ก็ชัดขึ้น...การรัก “ชาติ” ในความหมายนี้ จึงหมายถึงการเร่งปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย โดยเปิดรับเอาวิทยาการความรู้จากตะวันตกเข้ามาให้มากที่สุด และเร็วที่สุด และสิ่งนี้ก็นำไปสู่สโลแกนการปฏิรูปอุตสาหกรรม " ช่วยชาติ " การปฏิรูปการศึกษา“ช่วยชาติ” แล้วสุดท้าย ก็ค่อย ๆ ขยายไปสู่ “การปฏิวัติช่วยชาติ”

ทีนี้ก็เลยเกิดคำถามขัดแย้งขึ้น การกระทำแบบไหน ถึงเรียกว่า “ช่วยชาติ”...ตอนนั้น เสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย...ฝ่ายแรกคือ ฝ่ายปฏิรูปที่จงรักภักดีต่อราชสำนัก สนับสนุนให้ปฏิรูปราชวงศ์ชิงให้เป็น constitutional monarchy
ที่ทันสมัย ให้ราชวงศ์ชิงมีโอกาสได้ไปต่อ...ฝ่ายที่สองคือ...ฝ่ายปฏิวัติ คือต้องการล้มล้างราชวงศ์ชิง เพื่อให้จีนได้เกิดใหม่เป็นสาธารณรัฐ...กลุ่มหลังนี้นำโดย ดร. ซุนยัดเซ็นที่เรารู้จักกัน...ฝ่ายปฏิรูปได้พยายามทำให้ประเทศทันสมัยอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ถูกขัดขวางจากกลุ่มอำนาจเก่า โดยเฉพาะพระนางซูสีไทเฮา... สุดท้าย ราชวงศ์ชิงเลยถูกกลุ่มของ ดร. ซุนยัดเซ็นปฏิวัติไปในปี 1911 แล้วจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ...

กลับมาสู่คำถามหลัก แล้ว ความ “รักชาติ” คือรักอะไร...
ฝ่ายปฏิรูปรัก “ชาติ” ในฐานะที่ ชาติ=state ที่มีราชวงศ์ชิงเป็นผู้นำ state...เพราะฉะนั้นการธำรงไว้ซึ่งราชวงศ์คือความรักชาติ
แต่สำหรับฝ่ายปฏิวัติของซุนยัตเซ็น...ชาติ=nation...การล้มล้างราชวงศ์ชิง คือการล้มล้าง state เพื่อให้ชาติในฐานะ nation ได้ไปต่อ...
เช่นนี้แล้ว การกระทำของซุนยัตเซ็น ผู้ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นบิดาของชาติจีนจากจีนทั้งสองฝั่ง คือ การ“รักชาติ” หรือ “ ชังชาติ ” ?

พูดถึงความรักชาติ อีกตัวอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ กบฏนักมวย ( boxer’s rebellion, 1899-1901)...ซึ่งมักถูกยกย่องอยู่บ่อย ๆ ในฐานะวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีนกระแสหลัก...กบฏนักมวยเป็นกลุ่มกบฏที่ตอนแรกมีเป้าหมายจะล้มล้างราชวงศ์ชิงฟื้นฟูราชวงศ์หมิง แต่สุดท้ายแล้ว ราชสำนักชิงไปดีลไว้ให้มาเป็นพวก แล้วให้คนเหล่านี้พุ่งเป้าไปที่การกำจัดคนต่างชาติในจีนแทน...คนกลุ่มนี้ ทั้งทำลายโบสถ์ ฆ่าบาทหลวง ทำลายสถานทูต...พอคนต่างชาติถูกล้างบางเป็นจำนวนมาก ประเทศแม่ของคนเหล่านั้นก็ขู่ว่าถ้าราชสำนักชิงไม่ทำอะไรสักอย่าง ประเทศเหล่านั้นจะส่งกำลังทหารมาช่วยคนชาติตัวเอง...

ตอนนั้น เสียงในราชสำนักแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกบอกให้ “กำราบ”กบฏนักมวย ไม่ให้สถานการณ์บานปลาย จะได้ไปบอกต่างชาติได้ว่าไม่ต้องส่งทหารมา เราเอาอยู่...ฝ่ายที่สองบอกให้ “ลุยต่อ” เราควรใช้ความโกรธแค้นจากประชาชนให้เป็นประโยชน์ ให้พวกนักมวยสู้กับพวกต่างชาติต่อไป...สุดท้าย ฝ่าย “ลุยต่อ” ชนะ ฝ่ายที่ให้กำราบโดนฆ่าตาย...ต่อมา ซูสีไทเฮาประกาศสงครามกับ 11 ชาติ เปิดให้พวกกบฏนักมวยเข้ามาในปักกิ่ง แน่นอน คนต่างชาติถูกสังหารหมู่...

เรื่องเลยจบลงที่...พันธมิตร 8 ชาติส่งทหารมาปราบพวกกบฏ ความโกรธแค้นนำไปสู่การเผาทำลายพระราชวังหยวนหมิงหยวนในปักกิ่ง...และซากวังก็ถูกเก็บไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึง "ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู " จนถึงทุกวันนี้…

ในเวลาใกล้ ๆ กัน ยังมีกลุ่มข้าราชการหัวเมืองอีกกลุ่มเลือกไม่ฟังคำสั่งราชสำนัก ให้ที่คุ้มกันคนต่างชาติแทน แลกกับการที่ให้คนต่างชาติบอกทหารชาติตนไม่ให้เข้ามาทำลายพื้นที่ที่ตนดูแลอยู่ สุดท้ายพื้นที่เหล่านี้ กลายมาเป็นพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นที่สุด เศรษฐกิจดีที่สุด พัฒนาที่สุดในจีนทุกวันนี้

แล้วยังงี้ การกระทำของใครที่ เรียกว่า “รักชาติ” การกระทำของใครที่ควรถูกเรียกว่า “ชังชาติ” ?
เราเรียกกบฏนักมวยที่ถือสโลแกนเชิดชูราชวงศ์ชิง ทำลายล้างคนต่างชาติ แล้วจบลงด้วยการที่ต่างชาติส่งทหารมาทำลายวังจนย่อยยับว่า “รักชาติ” ได้อยู่หรือไม่
แล้วเราเรียกฝ่ายที่ขัดคำสั่งราชสำนัก แล้วเสนอให้เจรจากับศัตรูและให้ที่คุ้มกันกับคนต่างชาติ จนพื้นที่นั้นไม่ถูกทำลาย ว่า “ชังชาติ” ได้จริงหรือ?
.
การที่คุณพูดว่า “รักชาติ” คุณกำลังรักอะไร...รักตัว concept ที่โก้หรูหรือว่า รักในตัวประชาชน... “ชาติ” จะคงอยู่ไปทำไม ถ้าไม่ใช่เพื่อเป็น “เกราะ” ป้องกันให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและตามหาความสุขตามนิยามของตนเอง...เราต้องไม่ลืมว่า รากฐานของ “ชาติ” คือ ประชาชน...อย่าเอา concept คำว่า “ประชาชน” ในความหมายที่เป็นนามธรรมมาพรากสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของ "คน" ที่มีเลือดเนื้อและลมหายใจ...

ในเมื่อ รากฐานของ “ชาติ” คือ ประชาชน...การคุกคามประชาชน...จึงไม่สามารถเรียกว่า “ความรักชาติ” ได้
.
ประเทศที่ยิ่งใหญ่ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่ทำให้เราภูมิใจว่าเรามีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลในจินตนาการ แต่คือประเทศที่ให้ชนทุกชั้น คนทุกอาชีพมีพื้นที่และสิทธิที่จะไล่ตามความสุขของตัวเองได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งมันก็หมายความว่า ประเทศนั้น จะต้องให้ค่ากับ ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค นิติธรรม และอารยวิถี...ไม่ใช่หรือ

ถ้าประเทศนั้น ไม่ได้ให้ค่ากับคุณค่าเหล่านี้ แล้วคุณบอกเพียงว่า “รักชาติ” ด้วยความหวังว่า อยากให้ประเทศนั้น “มั่งคั่ง” และ ”แข็งแกร่ง” คุณต้องกลับมาถามตัวเองแล้วล่ะ ว่า “ใคร​“ ที่มั่งคั่ง...สถาบันใดสถาบันหนึ่งมั่งคั่ง หรือ ประชาชนมั่งคั่ง?...แล้ว “อะไร” ที่แข็งแกร่ง...กองทัพกระนั้นหรือ? คุณต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่จะทำให้ชาติยืนหยัดอย่างยั่งยืนได้นั้น ไม่ใช่ความรักชาติอย่างหมดใจ ไม่ใช่ความมั่งคั่ง และไม่ใช่ความแข็งแกร่ง แต่มันคือการที่ชาตินั้นยึดมั่นในครรลองประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค นิติธรรมและอารยวิถี เป็นคุณค่าพื้นฐานต่างหากเล่า...

ชาติที่มีเพียงคนรักชาติอย่างสุดหัวใจ มีเพียงความมั่งคั่ง และความแข็งแกร่ง...สิ่งเหล่านั้นจะค่อย ๆ นำ “ชาติ” นั้นไปสู่วิถีแห่งความป่าเถื่อนและการใช้ความรุนแรงในการปกครองประเทศ...ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ การที่หน่วยบินจู่โจมคามิคาเซ่ของญี่ปุ่นสู้อย่างตัวตายถวายหัว เอาเครื่องบินพุ่งชนเรือรบของฝ่ายศัตรูได้อย่างไม่เกรงกลัวความตาย ด้วยยึดมั่นใน “รัก” และ “ภักดี” ที่มีต่อชาติและจักรพรรดิ...แต่สุดท้าย “ความรักชาติ” เดียวกันนั้นก็นำญี่ปุ่นไปสู่การพ่ายแพ้สงคราม

หรือเรากำลังรักชาติแบบในสุภาษิตจีน “儿不嫌娘丑” (แม่สวยงามในสายตาลูกเสมอ) กันอยู่หรือเปล่า...ไม่ว่า “แม่” จะน่าเกลียดน่ากลัวแค่ไหน ยังไงลูกก็รักแม่เสมอ...มันฟังดูสวยงามนะ แต่อาจเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์อันใด ถ้าเห็นว่า “แม่” ล้าหลัง เราก็ควรช่วยกันปฏิรูป พัฒนา “แม่” ไม่ใช่หรือ...ถ้าเห็นว่า “แม่” ไม่สวย ก็ควรช่วยกันแต่งตัวแต่งหน้าให้ไม่ใช่หรือ... ถ้าเห็นว่า “แม่” ป่วย เราก็ควรหายามาช่วยรักษาเยียวยาไม่ใช่หรือ...การทำแบบนี้ มันน่าจะเป็นการ “รัก” แม่มากกว่าการพร่ำบอกตัวเองว่า “แม่จะน่าเกลียดน่ากลัวแค่ไหน ป่วยเป็นอะไร ลูกก็ยังรักแม่อย่างไม่มีเงื่อนไข” แล้วก็ปล่อยแม่ไว้ตามยถากรรมไม่ใช่หรือ

หากเป็นเช่นนี้ เราจะยังพูดกันอีกไหม ว่าคนที่ชี้ชวนให้เห็นปัญหาของ “ชาติ” เพื่อที่จะร่วมพัฒนาแก้ไข คือ “คนชังชาติ”?
หรือเราจะยังพูดอีกไหม ว่าคนที่ “รัก” ชาติด้วยศรัทธา อย่างหมดหัวใจ แล้วปล่อยชาติให้เป็นไปตามยถากรรม คือ “คนรักชาติ”?
.
อาจจะจริงก็ได้นะ ที่เค้าพูดกันว่า ว่าอีกฟากของความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชัง แต่คือความเพิกเฉย (The opposite of love is not hate, it's indifference)
จริง ๆ แล้ว “คนชังชาติ” และ “คนรักชาติ” อาจไม่ใช่คนสองฝั่งฟากที่เราจะไปขีดเส้นแบ่งได้อย่างเด็ดขาดง่ายดาย
ความ “รักชาติ” กับความ “ชังชาติ” อาจไม่ได้เป็นขั้วตรงข้าม...แต่อาจจะเป็นเพียงสองด้านของ “ใจ” ดวงเดียวกัน...
ใจที่รอคอยเราเองไปสังเกต ค้นพบและตั้งคำถาม
.
ก่อนที่จะไปแขวนป้ายว่าใครว่า “ชังชาติ” ก่อนที่เราจะให้ค่ากับการกระทำของตัวเองว่า “รักชาติ”...อยากชวนให้ทุกคนได้ลองฉุกคิดถึงมิติที่กล่าวมาเหล่านี้ค่ะ...
ที่สุดแล้ว เราทุกคนอาจไม่ได้ต่างกันคนละขั้วอย่างที่เราเคยคิด
.
และสุดท้าย ปาฐกถานี้ชี้ให้เห็นว่า ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของประเทศ ของประวัติศาสตร์และอารยธรรมของชาติอย่างงมงาย และชื่นชมใน “เอกลักษณ์” ของชาติจนหยุดเปรียบเทียบ ตั้งคำถาม และถกเถียงกับปัญหาที่อยู่ตรงปลายจมูก...มันอาจจะนำเราไปสู่วิกฤตที่ทำให้ชาติล่มจมได้ในสักวัน...
.
ได้แต่ภาวนาว่า ขออย่าให้วิกฤตนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยเลย

พัทธจิต ตั้งสินมั่นคง
21 กันยายน 2563