พิมพ์
Font Size

อะไรเอ่ยร้ายกว่า COVID-19? คำถามนี้ผุดขึ้นมาหลังจากนั่งตรวจคนไข้หลายคน ในช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา

ทั้งที่หมอเองเป็นจิตแพทย์ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับโรคระบบทางเดินหายใจอย่างเจ้า COVID – 19

แต่ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมากลับมีคนไข้มาขอเข้ารับคำปรึกษามากขึ้น เพราะรู้สึกว่าเริ่มควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองเรื่องไวรัส COVID -19 ไม่ได้

บางคนเริ่มมีอาการที่เรียกว่า panic attack (ภาวะตื่นตระหนก) บางคนเคยหายจาก panic disorder (โรคตื่นตระหนก) หลายปี ก็เริ่มกลับมามีอาการแพนิกใหม่

หมอเลยได้คำตอบว่า ที่ร้ายกว่าเชื้อไวรัส COVID – 19 คือภาวะแพนิกเรื่องไวรัสนี่เอง

สำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จักคำว่าภาวะแพนิก ขอแนะนำให้รู้จักเบื้องต้นก่อนว่า ภาวะแพนิกเป็นกลุ่มอาการที่ระบบประสาทอัตโนมัติสั่งการผิดปกติโดยเฉียบพลัน จึงทำให้มีอาการอย่างเช่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจไม่อิ่ม มวนท้อง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลมเป็นต้น ที่สำคัญอาการดังกล่าวทำให้มีความคิดว่าตัวเองเหมือนจะตาย ไปตรวจร่างกายที่ไหนก็ไม่พบสาเหตุ

ซึ่งโรคแพนิกเป็นความผิดปกติในกลุ่มของความวิตกกังวล ที่มักจะเริ่มต้นจากการเก็บสะสมความเครียด จิตตก จนนำไปสู่ภาวะตื่นตระหนกจนสุดท้ายกลายเป็นโรคตื่นตระหนก (panic disorder)

ยกตัวอย่างหญิงสาววัยกลางคนรายหนึ่ง มาด้วยรู้สึกวิตกกังวลมากเกินกว่าปกติเรื่องไวรัส และมีภาวะแพนิกเกือบทุกวันจนรู้สึกรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตมา 1 เดือน จากประวัติเดิม เธอเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิกเมื่อ 4 ปีก่อน แล้วก็รักษาหายขาดมาแล้วยาวนานมากกว่า 2 ปี จนกระทั่งเมื่อ 1 เดือนก่อนหลังจากมีข่าวการระบาดหนักของไวรัสจึงเริ่มกลับมามีอาการ และรู้สึกทรมานกับอาการที่เป็นมาก

หมอ : อาการแพนิกมักเป็นช่วงเวลาไหนคะ

หญิงสาว : ช่วงกลางวันค่ะแต่เวลาไม่ชัดเจน ตอนมีอาการอยู่จะมีความคิดเรื่องกลัวติดเชื้อไวรัสขึ้นมา หลายครั้งรู้ว่ามันเกินไปแต่หยุดความคิดไม่ได้

หมอ : ลองเล่าวิถีชีวิตประจำวันช่วงนี้ให้ฟังทีค่ะ ตื่นเช้ามาแล้วเราทำอะไรบ้าง

หญิงสาว : ตื่นมาก็อาบน้ำล้างหน้าแปรงฟันปกติ

หมอ : มีอะไรที่เราทำก่อนลุกไปล้างหน้าแปรงฟันไหม

หญิงสาว : อ้อ! ตื่นแล้วหยิบมือถือที่หัวเตียงมาเล่นโซเชียลค่ะ แล้วช่วงนี้ก็มีแต่ข่าวไวรัสเต็มไปหมดจนไม่รู้อันไหนจริง อันไหนไม่จริง

สีหน้าแววตาของหญิงสาวบ่งบอกว่า เธอเข้าใจแล้วว่าอาการของแพนิกที่กลับมาในครั้งนี้เกิดจากสาเหตุอะไร

คราวนี้จะขอเปรียบเทียบข้อมูลของเจ้าไวรัส COVID – 19 กับข้อมูลของโรคตื่นตระหนก (panic disorder) ที่อาจเกิดขึ้นหากเราไม่เริ่มหันมาดูแลจิตใจตัวเองในสภาวะวิกฤต

1.ลักษณะการติดต่อ

เชื้อไวรัส COVID – 19 : (78 – 85%) ติดต่อจากละอองเสมหะ (droplet) จากคนที่ป่วย แต่ไม่ติดจากละอองฝอยในอากาศ (aerosol)

โรคตื่นตระหนก : เกิดได้เองอย่างกะทันหันด้วยตัวเราเอง ไม่ได้มีคนอื่นนำมาติด

2.อาการที่แสดงออกของโรค

เชื้อไวรัส COVID – 19 : ไข้ (88 %) ไอแห้ง (68%) ไม่มีแรง (38%) ไอมีเสมหะ (33%) หายใจลำบาก (18%) เจ็บคอ (14%) ปวดหัว (14%) ปวดกล้ามเนื้อ (14%) หนาวสั่น (11%)

โรคตื่นตระหนก : หัวใจเต้นเร็ว บางรายรู้สึกว่ามีอาการใจสั่นอย่างรุนแรง,รู้สึกหายใจไม่อิ่มเหมือนหายใจไม่เข้าปอด,วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม,รู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้,รู้สึกเหมือนตัวเองจะตาย ไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่มักมีหลายอาการในเวลาเดียวกัน

3. ความรุนแรงของอาการ

เชื้อไวรัส COVID – 19 : 80% มีอาการไม่หนัก

โรคตื่นตระหนก : 100% คิดว่าตัวเองมีอาการหนัก

4. ระยะเวลาเกิดอาการ

เชื้อไวรัส COVID – 19 : คนที่ได้รับเชื้อมักแสดงอาการใน 2-3 วัน โดยอาการค่อยๆ แสดงออก

โรคตื่นตระหนก : มีอาการฉับพลันแบบไม่ทันตั้งตัว

5.อัตราการเสียชีวิต

เชื้อไวรัส COVID – 19 : คนสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัวอัตราการตายอยู่ที่ 1.4%

โรคตื่นตระหนก : อัตราการตาย 0% (แต่ตอนมีอาการมักคิดว่าตัวเองเหมือนจะตาย)

ดังนั้นหากเปรียบไปแล้วแม้ว่าในวันนี้เรายังไม่ได้ติดเชื้อไวรัส COVID – 19 แต่ถ้าหากปล่อยให้ตัวเองหมกมุ่นกับข้อมูลข่าวสารทั้งจริงและไม่จริงจนเกินไปแล้วเกิดภาวะแพนิก ก็ไม่ต่างอะไรกับการติดเชื้อไวรัสทางอารมณ์

ทรมานทั้งกายและใจ

แล้วเราควรดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเริ่มรู้ว่ากำลังเก็บสะสมความเครียด หรือเริ่มมีความตระหนกกับเรื่องไวรัส

  • ลดการรับข้อมูลที่เป็นพิษทางอารมณ์และความคิด ด้วยการจำกัดแหล่งข่าวที่จะรับให้น้อยและแม่นยำที่สุด เช่น องค์การอนามัยโรค,โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์,กรมควบคุมโรค โดยเช็คจากฐานข้อมูลโดยตรงแทนการอ่านจากข้อมูลที่ส่งต่อทางโซเชียล
  • รับข้อมูลในช่วงเวลาที่ได้ทำหน้าที่สำคัญต่างๆ ของแต่ละวันเสร็จสิ้นแล้ว
  • ไม่นำมือถือเข้าห้องนอน หรือไว้หัวเตียงเพื่อไม่ให้หยิบมาเล่นก่อนนอน หรือทันทีที่ตื่น
  • เมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านเรื่องไวรัส ให้รับรู้แล้วเปลี่ยนไปเป็นการปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง ออกกำลังกาย
  • เมื่อมีอาการแพนิก ให้หายใจเข้าสั้นออกยาวแล้วบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นอะไร”
  • มีช่วงเวลาผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์เป็นประจำสม่ำเสมอ

วันนี้เชื้อไวรัส COVID – 19 ยังไม่ได้บุกมาทำร้ายเรา แต่ความตระหนกเรื่องไวรัสอาจกำลังทำร้ายเรา

กลับมาดูแลภูมิคุ้มกันทางร่างกายและจิตใจ ให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้พร้อมกันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://today.line.me

เนื้อหาต้นฉบับ https://today.line.me/TH/pc/article/g2YlXa?utm_source=lineshare