พิมพ์
Font Size

โลหะหนักที่เป็นพิษ (Toxic elements)

มีโลหะหนักหลายชนิดที่มนุษย์ได้รับจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก่อให้เกิดอาการต่างๆของโรค ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงอาการรุนแรง รวมทั้งถึงการเสียชีวิต ในจำนวนโลหะหนักที่มีมากมายในสิ่งแวดล้อม สารที่ปัจจุบันถือน่าเป็นภัยต่อสุขภาพมากที่สุด ได้แก่ ตะกั่ว(Lead) ปรอท(Mercury) แคดเมียม(Cadmium) และ อาเซนิก(Arsenic) บทความนี้จะบรรยายอย่างย่อๆ โดยจะเน้นเฉพาะส่วนที่สารนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขอนามัยของเรา

ตะกั่ว (Lead)

ตะกั่วนับเป็นโลหะหนัก อันดับต้นๆที่รับรู้กันมานานว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกาย แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย สารตะกั่วมีอยู่ในของใช้ประจำวันต่างๆ เช่นใน แบตเตอรี่ สีย้อม สีทาบ้าน ของเล่นเด็ก การทำซีรามิค น้ำมันรถยนต์ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ทางระบบหายใจ และทางระบบทางเดินอาหาร แต่ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหาร ผู้ใหญ่จะดูดซึมประมาณ 15% ของตะกั่วที่อยู่ในอาหาร แต่เด็กและหญิงตั้งครรภ์จะดูดซึมได้สูงถึง 50% ดังนั้นตะกั่วจึงเป็นอันตรายต่อเด็ก และหญิงตั้งครรภ์มากกว่าผู้ใหญ่

ตะกั่วที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตจะจับตัวกับ hemoglobin และถูกนำไปสะสมในเนื้อเยื่ออ่อน (softtissue) โดยเฉพาะ ตับและไต รวมทั้งในกระดูกและในเส้นผม แต่ในที่สุดตะกั่วในร่างกายเกือบทั้งหมดจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูกซึ่งสามารถอยู่ได้นานถึงกว่า 60 ปี (half-life = 32 ปี)

อาการพิษจากตะกั่วอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ อาการเฉียบพลัน (acute exposure) จะพบกรณีที่ได้รับสารตะกั่วจำนวนมากในระยะเวลาสั้น สารตะกั่วจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะสมอง อาการตัวสั่น ไม่รู้สึกตัว ส่วนผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารจะมีอาการปวดท้อง จุก เสียด คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น สำหรับผู้ที่ได้รับสารตะกั่วทีละเล็กละน้อยเป็นเวลานานจะมีอาการเรื้อรัง (chronic exposure) อาการที่พบคือ ปวดเมื่อยตัว เบื่ออาหาร ท้องผูก มีเลือดออกในปัสสาวะและโลหิตจาง

ตะกั่วส่งผลอย่างมากต่อหญิงที่ตั้งครรภ์และเด็ก พิษจากสารตะกั่วจะทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ และอาจเสียการได้ยิน ระดับของสารตะกั่วในเลือดที่ยอมรับได้คือ ต่ำกว่า 5 microgram/dl และในปัสสาวะต่ำกว่า 50 microgram/g creatinine

การตรวจหาสารตะกั่วจะต้องใช้เครื่องมือและเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น Atomic absorption spectroscopy (AAS), Inductively coupled plasmaoptical emission spectroscopy (ICP-OES) หรือ Inductively coupled plasma-mass spectrometry (ICP-MS) เป็นต้น