พิมพ์
Font Size

sugar.jpg

                น้ำตาลเป็นสารอาหารเสพติดของมนุษย์มาช้านาน แต่ปัจจุบัน ปัญหาโรคอ้วนกำลังคุกคามมนุษย์ชาติทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากแผนการตลาดที่แยบยลของผู้ผลิตและผู้ค้าที่เพิ่มอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้แก่ประชาชน โดยเพิ่มขนาดของอาหารให้ใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างความเคยชิน ส่งผลให้ปัจจุบันโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กำลังส่งผลคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรงมีคำถามที่น่าสนใจว่าทำไม เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1900 ประชากรโลกเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันมีประชากรสูงถึง 1 ใน 3 ของโลกมีปัญหานี้ หรือในปี ค.ศ. 1980 ประชากรโลกประมาณ 153 ล้านคนป่วยด้วยโรคเบาหวาน แต่ปัจจุบันมีประชากรโลกถึง 347 ล้านคนเป็นโรคนี้ เมื่อย้อนไปดูสาเหตุก็จะพบว่า การบริโภคน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนสำคัญของปัญหานี้

ผลการสำรวจผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 (type 2) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ช่วงปี ค.ศ.1973 มีประชากร 2% (4.2ล้านคน) เป็นโรคเบาหวาน แต่การสำรวจเมื่อปี 2010 พบว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 7% (21.1ล้านคน) ของประชากร ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการบริโภคน้ำตาลที่นอกเหนือจากมีอยู่ในอาหารปกติ (added sugars) มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น จาก 333 แคลอรี่ ในปี ค.ศ. 1970 เป็น 422 แคลอรี่ ในปี ค.ศ. 1999

                สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) แนะนำการบริโภคน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจากอาหารปกติ สำหรับ ชาย วันละ 150 แคลอรี่ (9 ช้อนชา หรือประมาณ 38 กรัม) และหญิง วันละ 100 แคลอรี่ (6 ช้อนชา หรือประมาณ 25 กรัม) โดยน้ำตาล 1 ช้อนชา เป็นปริมาณน้ำตาล 4.2 กรัม ปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆมีดังนี้

               คุกกี้ 3 ชิ้น มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 10.5 กรัม โยเกิตไขมันต่ำ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 25.9 กรัม แอปเปิลแดง 1 ผล มีประมาณน้ำตาลประมาณ 3.2 กรัม ข้าวโพด 1 ฝัก มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 0.8 กรัม ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนชา มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 2.5 กรัม ไข่ 1 ฟอง มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 0.2 กรัม เครื่องดื่มต่างๆ 1 กระป๋อง (12 ออนซ์) มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 33.3 กรัม

                รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทย กินน้ำตาลโดยเฉลี่ยคนละ 30 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสูงเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 3 เท่า น้ำตาลที่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด ทำให้ร่างกายต้องดึงสารต่างๆในร่างกายมาลดความเป็นกรดของเลือดลงเพื่อให้สู่สภาวะสมดุล น้ำตาลส่วนเกินจะถูกนำไปสะสมในตับ ในรูปแบบไกลโคเจน บางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมัน เข้าไปสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่นหน้าท้อง สะโพกและต้นขาเป็นต้น ถ้าร่างกายได้รับน้ำตาลระดับสูงอย่างต่อเนื่อง กรดไขมันเหล่านี้ก็จะเข้าไปสะสมในหลอดเลือด โดยเฉพาะในหัวใจและสมองส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดอื่นๆตามมา

               ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีเราควรลดปริมาณน้ำตาลที่ใส่เพิ่มลงในอาหารและเครื่องดื่มปกติลง เช่นดื่มกาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มบรรจุขวดหรือกระป๋องที่มีขายตามท้องตลาด ลดการกินผลไม้และของหวานที่มีรสหวานสูง เป็นต้น

               น้ำตาลทรายที่ผลิตจากอ้อยเมื่อนำมาประกอบอาหารหรือใส่ในกาแฟ จะประกอบด้วยน้ำตาล กลูโคส (glucose) 50% น้ำตาล ฟรุกโตส (fructose) 50% น้ำตาลกลูโศสจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดนำไปใช้เป็นพลังงาน ส่วนที่เกินจะถูกเปลี่ยนในตับเป็นไขมัน และถูกส่งไปตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ส่วนน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งเคยคิดกันว่าไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจะเข้าไปในตับโดยตรงและถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมอยู่ในตับ และถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดันโลหิต และเบาหวานประเภท 2 เป็นต้น