Font Size

             

            Dr.Alois  Alzheimer เป็นผู้ที่พบว่าโรคนี้มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมองเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว แม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะหาสาเหตุที่แท้จริง ของความผิดปกติของสมองและลดความเสียหายของเซลล์ประสาทของสมองและลดความเสียหายของเซลล์ประสาทของสมองให้ช้าลง แต่ก็ไม่ได้ผลดีมากนัก ยังคงมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นของมนุษย์ และการวินิจฉัยโรคที่มีความถูกต้องมากขึ้น

            อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมาก็ได้มีการพบว่า สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นจากการสะสมของโปรตีน Amyloid Beta-Amyloid (1-40) และ Beta-Amyloid (1-42)เพิ่มขึ้นในสมอง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ โปรตีน Amyloid จะเข้าไปเกาะติดกับเซลล์ประสาทในสมอง ในปริมาณที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง เซลล์ประสาทค่อยๆเสื่อมลง หมดสภาพการทำหน้าที่ตามปกติในที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ และสภาวะการเรียนรู้ไป องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณ 36 ล้านคนทั่วโลก และจำนวนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในเวลา 14-15 ปีอาการของโรคจะเริ่มจากผู้ป่วยมีความจำสั้น มีความเสื่อมของการเรียนรู้ สูญเสียความจำ จนช่วงท้ายของโรคผู้ป่วยจะไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ไม่สามารถทำงานได้ ต้องพึ่งพาการดูแลอย่างใกล้ชิด

            ปัจจุบันความก้าวหน้าด้านวิชาการ ภาพทางการแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถค้นหาโปรตีน Amyloid ที่เข้าไปเกาะบนเซลล์ประสาทได้ตั้งแต่ระยะแรกของการสะสม แต่ก็ยังไม่มีวิธีการที่จะเข้าไปยับยั้งการสะสมของโปรตีนนี้ได้ ดังนั้นเป้าหมายของการแก้ไขโรคนี้คือ การผลิตวัคซีนที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไปทำลาย โปรตีน Amyloid ก่อนที่จะเข้าไปเกาะเซลล์ประสาท และการพัฒนายาที่จะเข้าไปป้องกันไม่ให้โปรตีน Amyloid เข้าไปเกาะบนเซลล์ประสาท รวมทั้งช่วยให้เซลล์ประสาทสามารถทำงานได้ท่ามกลางการสะสมของโปรตีน Amyloid ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาวิจัยกันอย่างเข้มข้นซึ่งคาดว่าอาจได้ผล อย่างใดอย่างหนึ่งในเร็วๆนี้

            การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำปัจจุบันทำได้โดยการตรวจหาโปรตีน Amyloid ที่เกาะอยู่บนเซลล์ประสาทในสมองหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว สำหรับการวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยสูญเสียความจำ ร่วมกับการใช้เครื่องมือด้านภาพทางการแพทย์ MRT,SPECT หรือ PET เป็นต้น ปัจจุบันมีเทคนิคที่พัฒนาขึ้นใหม่โดยการตรวจหาปริมาณ Beta-Amyloid โปรตีนชนิด (1-40) และ (1-42) ในน้ำไขสันหลัง (CSF) ด้วยวิธี ELISA แต่วิธีนี้ยังเป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก

            สำหรับการป้องกันและลดความเสี่ยงของสมองให้ช้าลง ในปัจจุบันที่ได้ผลดีพอสมควรคือ การกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการมีกิจกรรมทางสังคมที่สม่ำเสมอจะทำให้โรคพัฒนาช้าลง รวมทั้งจะช่วยให้อาการบางอย่างกลับคืนดีขึ้นได้