พิมพ์
Font Size

ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากควรทำหรือไม่

               โรคมะเร็งของต่อมลูกหมากเกิดขึ้นในผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงกว่าวัยอื่น เคยมีรายงานวิจัยว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate-specific antigen testing) หรือ PSA ซึ่งถูกนำออกใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พศ. 2533 อาจมีประโยชน์น้อย เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมีการพัฒนาช้ามากอาจใช้เวลา 10-20 ปี ในการพัฒนาของโรคในแต่ละขั้น และการรักษาโดยการผ่าตัดอาจทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้เร็วขึ้น หรือผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยโรคอื่นก่อนโรคมะเร็ง จะแสดงอาการ เป็นต้น

               อย่างไรก็ตามมีรายงานล่าสุดจากการวิจัยพบว่า ได้ผลขัดแย้งกัน เนื่องจากข้อมูลทางสถิติพบว่า กลุ่มผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการรักษาต่อเนื่องมีอัตราการตายลดลงถึง 22%  และผลจากการวิจัยต่อมาก็พบว่า กลุ่มผู้ได้รับการตรวจคัดกรองมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึงประมาณ 50 % (ข้อมูลจาก ASCP : Daily Diagnosis)

               ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็เช่นเดียวกับมะเร็งอื่นๆ กล่าวคือ เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาหารและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอาหารมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ปิ้งย่าง หรือทอดด้วยความร้อนสูง จะทำให้โปรตีน และไขมันในเนื้อถูกเปลี่ยนเป็นสาร amines และ hydrocarbons ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยสารจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง ดีเอ็นเอ ในเซลล์ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะเซลล์ของต่อมลูกหมากมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าเซลล์ของอวัยวะอื่นมาก จึงทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ง่าย