sugar.jpg

                น้ำตาลเป็นสารอาหารเสพติดของมนุษย์มาช้านาน แต่ปัจจุบัน ปัญหาโรคอ้วนกำลังคุกคามมนุษย์ชาติทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากแผนการตลาดที่แยบยลของผู้ผลิตและผู้ค้าที่เพิ่มอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้แก่ประชาชน โดยเพิ่มขนาดของอาหารให้ใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างความเคยชิน ส่งผลให้ปัจจุบันโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กำลังส่งผลคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรงมีคำถามที่น่าสนใจว่าทำไม เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1900 ประชากรโลกเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันมีประชากรสูงถึง 1 ใน 3 ของโลกมีปัญหานี้ หรือในปี ค.ศ. 1980 ประชากรโลกประมาณ 153 ล้านคนป่วยด้วยโรคเบาหวาน แต่ปัจจุบันมีประชากรโลกถึง 347 ล้านคนเป็นโรคนี้ เมื่อย้อนไปดูสาเหตุก็จะพบว่า การบริโภคน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนสำคัญของปัญหานี้

ผลการสำรวจผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 (type 2) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ช่วงปี ค.ศ.1973 มีประชากร 2% (4.2ล้านคน) เป็นโรคเบาหวาน แต่การสำรวจเมื่อปี 2010 พบว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 7% (21.1ล้านคน) ของประชากร ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการบริโภคน้ำตาลที่นอกเหนือจากมีอยู่ในอาหารปกติ (added sugars) มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น จาก 333 แคลอรี่ ในปี ค.ศ. 1970 เป็น 422 แคลอรี่ ในปี ค.ศ. 1999

                สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) แนะนำการบริโภคน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจากอาหารปกติ สำหรับ ชาย วันละ 150 แคลอรี่ (9 ช้อนชา หรือประมาณ 38 กรัม) และหญิง วันละ 100 แคลอรี่ (6 ช้อนชา หรือประมาณ 25 กรัม) โดยน้ำตาล 1 ช้อนชา เป็นปริมาณน้ำตาล 4.2 กรัม ปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆมีดังนี้

               คุกกี้ 3 ชิ้น มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 10.5 กรัม โยเกิตไขมันต่ำ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 25.9 กรัม แอปเปิลแดง 1 ผล มีประมาณน้ำตาลประมาณ 3.2 กรัม ข้าวโพด 1 ฝัก มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 0.8 กรัม ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนชา มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 2.5 กรัม ไข่ 1 ฟอง มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 0.2 กรัม เครื่องดื่มต่างๆ 1 กระป๋อง (12 ออนซ์) มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 33.3 กรัม

                รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทย กินน้ำตาลโดยเฉลี่ยคนละ 30 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสูงเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 3 เท่า น้ำตาลที่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด ทำให้ร่างกายต้องดึงสารต่างๆในร่างกายมาลดความเป็นกรดของเลือดลงเพื่อให้สู่สภาวะสมดุล น้ำตาลส่วนเกินจะถูกนำไปสะสมในตับ ในรูปแบบไกลโคเจน บางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมัน เข้าไปสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่นหน้าท้อง สะโพกและต้นขาเป็นต้น ถ้าร่างกายได้รับน้ำตาลระดับสูงอย่างต่อเนื่อง กรดไขมันเหล่านี้ก็จะเข้าไปสะสมในหลอดเลือด โดยเฉพาะในหัวใจและสมองส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดอื่นๆตามมา

               ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีเราควรลดปริมาณน้ำตาลที่ใส่เพิ่มลงในอาหารและเครื่องดื่มปกติลง เช่นดื่มกาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มบรรจุขวดหรือกระป๋องที่มีขายตามท้องตลาด ลดการกินผลไม้และของหวานที่มีรสหวานสูง เป็นต้น

               น้ำตาลทรายที่ผลิตจากอ้อยเมื่อนำมาประกอบอาหารหรือใส่ในกาแฟ จะประกอบด้วยน้ำตาล กลูโคส (glucose) 50% น้ำตาล ฟรุกโตส (fructose) 50% น้ำตาลกลูโศสจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดนำไปใช้เป็นพลังงาน ส่วนที่เกินจะถูกเปลี่ยนในตับเป็นไขมัน และถูกส่งไปตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ส่วนน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งเคยคิดกันว่าไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจะเข้าไปในตับโดยตรงและถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมอยู่ในตับ และถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดันโลหิต และเบาหวานประเภท 2 เป็นต้น

ความก้าวหน้าการวิจัยด้านโรคมะเร็ง

1334326128301

      นักวิทยาศาสตร์กำลังสงสัยว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ปัจจุบันเราจะสามารถเอาชนะโรคมะเร็งได้หรือไม่? หรือจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย เนื่องจากโรคมะเร็งต่างจากโรคอื่นๆ ค่อนข้างมาก โรคทั่วไปมีสาเหตุปัจจัย 1-2 อย่าง แต่โรคมะเร็งมีสาเหตุจากหลายอย่าง อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆอีกมาก แม้การวิจัยเพื่อเอาชนะโรคมะเร็งจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ปัจจุบันก็มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ อาทิเช่น

  1. นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนา microship ที่เมื่อหยดเลือดผู้ป่วยลงไปจะสามารถบอกได้ว่าในเลือดมีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่
  2. นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนายาที่ใช้ทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติ (targeted drugs) โดยปัจจุบัน มียาหลายชนิดอยู่ในขั้นการทดสอบภาคสนาม
  3. นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนายาที่จะไปกระตุ้น gene ที่สงบอยู่ให้ฟื้นขึ้นและทำหน้าที่หยุดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นได้ และหมดไปในที่สุด

     ข้อมูลที่น่าสนใจของคนอเมริกัน พบว่า ชายอเมริกัน 1 ใน 2 และหญิงอเมริกัน 1 ใน 3 มีโอกาศที่จะเป็นมะเร็งอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงชีวิต

Drug-Resistant T.B.

TB

          ปัจจุบัน วัณโรค (T.B.) ถือว่าเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 2 ของมนุษย์ และกำลังเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาการปรากฏของเชื้อ T.B. สายพันธ์ดื้อยา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าประมาณร้อยละ 4 ของผู้ที่ติดเชื้อใหม่ได้รับเชื้อที่ดื้อต่อยาที่ใช้ในการรักษาแสดงว่าเชื้อสายพันธ์ดื้อยามีการแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

เชื้อวัณโรคดื้อยาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

(1) เชื้อดื้อยาหลายชนิด (multidrug-resistant (MDR) tuberculosis)

(2) เชื้อดื้อยาชนิดรุนแรง (extensively drug-resistant (XDR) tuberculosis)

(3) เชื้อดื้อยาทุกชนิด (total drug-resistant (TDR) tuberculosis)

         รายงานผู้เสียชีวิตด้วยวัณโรคทั่วโลกในปี 2554 มีมากกว่า 1.4 ล้านคน เฉพาะในประเทศอินเดียมีผู้ติดเชื้อใหม่ปีละ 2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตด้วยวัณโรค 2 คน ทุก 3 นาที ทำให้อินเดียมีผู้ป่วยวัณโรคสูงถึง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ป่วยทั่วโลก

         หลังจากมีการพบยาที่ใช้ในการรักษาได้ผลดีข้อมูลตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา พบว่าอัตราการตายจากวัณโรคลดลงถึงมากกว่า ร้อยละ 40 แต่การติดเชื้อวัณโรคกลับเพิ่มขึ้นอีกจากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนหนึ่งจากการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาด และการใช้ยาไม่เหมาะสมทำให้เกิดเชื้อสายพันธ์ดื้อยา ทั้งชนิด MDR-TB และ XDR-TB มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้ง เอเชีย แอฟริกา อเมริกาและยุโรป

         ล่าสุด (ปี 2554) มีรายงานพบเชื้อวัณโรคดื้อยาชนิด MDR-TB ในประเทศ เม็กซิโก 467 ราย และ 124 รายจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประมาณการณ์ว่า T.B. ติดเชื้อ 1 ในทุก 3 คนในโลก หรือมีประชากรโลกมากกว่า 2 พันล้านคนติดเชื้อ T.B. อยู่ในปัจจุบัน

แผนที่พันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome Mapping)

genome

          นักวิทยาศาสตร์ ได้สร้างแผนที่พันธุ์กรรมมนุษย์ ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2546 ต้องใช้เงินไปทั้งสิ้นกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทำให้ขณะนี้ถ้าผู้ใดต้องการรู้แผนที่พันธุ์กรรมของตนเองก็สามารถทำได้ โดยใช้เลือดไม่เกิน 5 มิลลิลิตร ใช้เงินประมาณ 200,000 บาท

          ปัจจุบันเรารู้ว่ามีโรคจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุ์กรรม มากบ้าง น้อยบ้าง รุนแรงมาก รุนแรงน้อยแตกต่างกันไป เทคนิคการวิเคราะห์แผนที่พันธุ์กรรมจึงถูกนำข้อมูลมาใช้ในการคาดการความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ของแต่ละคนเพื่อประโยชน์ในการวางแผนด้านสุขภาพล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะกรณีที่ต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยในการกระตุ้นให้เกิดโรค ดังเป็นที่รู้กันว่า โรคบางโรคเกิดจากสาเหตุเพียงการเกิดผิดปกติของยีนเดียว (single mutation) แต่หลายโรคมีสาเหตุซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายยีนและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย

ตัวอย่างโรคต่างๆที่เรารู้ว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซม ได้แก่

          โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซม หมายเลข 5  โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ โครโมโซม หมายเลข 13 และ 17 โรคเบาหวาน (Diabetes) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ โครโมโซม หมายเลข 6 และอาการออร์ติสซึม (Autism) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซมหมายเลข 15 และ 16  โรคอ้วน (Obesity) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนในโครโมโซม หมายเลข 16 โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ โครโมโซม หมายเลข 19 เป็นต้น

          อย่างไรก็ตามยังคงมีความขัดแย้งระหว่างข้อดีและข้อเสียของการสร้างแผนที่พันธุ์กรรมของแต่ละคนอยู่มาก เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากแผนที่พันธุ์กรรม ยังคงเป็นเพียงการคาดคะเนโอกาสที่จะเกิด แต่ไม่ใช่เป็นการยืนยันว่าจะต้องเกิด ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อาทิเช่น เด็กในครรภ์อาจถูกทำแท้ง ถ้าแม่พบว่าลูกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเป็นต้น ดังนั้นแพทย์ที่เกี่ยวข้องจึงไม่แนะนำให้ทำการทดสอบยีน (genetic testing) ในเด็ก นอกจากมีหลักฐานข้อมูลชัดเจนว่าจะเป็นประโยชน์ในการรักษา ดังนั้นผู้ที่คิดจะทำการทดสอบยีนของตนเองควรต้องใคร่ครวญให้ดี ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองเมื่อพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น

              ปัจจุบันได้มีการดำเนินการ เชิงธุรกิจในการรับวิเคราะห์แผนที่ทางพันธุ์กรรมของผู้ที่ต้องการรู้ (direct-to-consumer (DTC) genetic testing) ในราคาเพียงประมาณ US$ 100-200 โดยส่งข้อมูลผ่านทาง internet โดยบริษัทผู้ให้บริการจะ scan DNA ของผู้ติดต่อ เปรียบเทียบกับตัวบ่งชี้ ของโรคต่างๆในแผนที่พันธุ์กรรมของมนุษย์ ดังนั้น DTC testing จึงไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์แผนที่พันธุ์กรรมทั้งหมด แต่เป็นเพียงการวิเคราะห์บางจุดเท่านั้น

              ขั้นตอนการดำเนินการส่วนใหญ่โดยผ่าน internet ซึ่งหลังมีการตกลงเรียบร้อยแล้ว บริษัทผู้รับตรวจสอบจะส่งชุดเก็บตัวอย่างส่งตรวจมาให้ ผู้ต้องการตรวจสามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง และส่งกลับไปที่บริษัทผู้รับตรวจผ่านผู้ให้บริการส่งพัสดุได้โดยตรง หลังจากนั้นการติดต่อทุกอย่างจะดำเนินการโดยผ่าน internet ซึ่งสะดวกมากสำหรับผู้ที่อยากรู้พันธุ์กรรมของตนเอง อย่างไรก็ตามผู้มีความรู้จำนวนหนึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับการทำ DTC genetic testing เนื่องจากเชื่อว่าข้อมูลที่ได้สามารถหาได้จากการศึกษาประวัติครอบครัวโดยละเอียดอยู่แล้ว ดังตัวอย่างข้อมูลที่ได้จาก DTC genetic testing เช่น คุณมีดวงตาสีดำ ผมตรง บรรพบุรุษมาจากจีน มีญาติบางคนเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน 0.5 เท่าของความเสี่ยงปกติ มีความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม 1.5 เท่าของความเสี่ยงปกติเป็นต้น

           ดังนั้นข้อดีข้อเสียของ DTC genetic testing จึงขึ้นอยู่กับมุมมองซึ่งถ้ามองว่าเพียงเพื่อตอบสนองต่อความอยากรู้ หรือเพียงเพื่อประกอบในการระมัดระวังตัวเองก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าคิดว่าข้อมูลที่ได้อาจสร้างความวิตกกังวลให้เกิดขึ้นเกินความจำเป็นก็ควรระมัดระวังก่อนดำเนินการให้มีการวิเคราะห์แผนที่พันธุ์กรรมของตนเอง

การรบกวนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ด้วยเทคนิคทางอิมมูโนวิทยา

             ปัจจุบันเทคนิคทางอิมมูโนวิทยาได้ถูกนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์  เพื่อการวินิจฉัย โรคอย่างกว้างขวาง  พร้อมๆกับการใช้เทคนิคที่มีความแม่นยำสูงนี้  ความผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งความผิดพลาดที่มีสาเหตุจากการทำของเจ้าหน้าที่ จากคุณภาพของเครื่องมือและชุดน้ำยาตรวจสอบ และความผิดพลาดที่อาจมีสาเหตุจากสิ่งที่อยู่ในเลือดของผู้ป่วยเอง  ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ กรณีของเลือดที่มี hemolysis, lipemia และ bilirubinemia เป็นต้น  เนื่องจากความผิดปกติของตัวอย่างเลือดที่ใช้ในการวิเคราะห์เหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสีที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยาทางอิมมูโนวิทยา  นอกเหนือจากกรณีดังกล่าวข้างต้น  ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลก่อให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางอิมมูโนวิทยา ได้แก่ แอนติบอดีอื่นๆที่มีอยู่ในเลือดของผู้ป่วย ทั้งที่มีอยู่โดยธรรมชาติและเกิดจากการถูกกระตุ้นภายหลัง (endogenous antibodies) อาทิเช่น heterophile antibody เป็นแอนติบอดีที่มีอยู่ในกระแสเลือดตามธรรมชาติและ autoantibodies เป็นแอนติบอดีที่ทำปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อของตนเอง  รวมทั้ง antianimal antibodies ที่เกิดจากการกระตุ้นโดยแอนติเจนจากสัตว์ เช่นผู้ได้รับการรักษาด้วยโปรตีนจากสัตว์หรือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ เป็นต้น  ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลได้ทั้งการเกิดผลบวกปลอมและผลลบปลอมจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ดังนี้

 

ปฏิกิริยาผลบวกจริง   “Ca : Ag : Da

ปฏิกิริยาผลบวกปลอม   “Ca : Eg : Da

ปฏิกิริยาผลลบปลอม   “Ca : Eg และ Eg : Da

 

Ca  = Capture antibody

Ag = Target antigen

Eg = Endogenous antibody

Da = Detection antibody

 

กลุ่มการทดสอบที่อาจได้รับผลกระทบจาก endogenous antibodies

Hormones    :         Cortisol, estradiol, free thyroxine, FSH, LH, progesterone, prolactin, testosterone, thyroglobulin, thyroxine, triiodothyroxine, TSH

Tumor Markers   :         AFP, CA125, CA15-3, CA19-9, CEA, hCG, PSA

Other                 :         CK-MB ,ferritin, hepatitis B surface antigen, troponin

 

เอกสารอ้างอิง

Emerson J.F. And Lai K.K.Y. Endogenous Antibody Interferences in Immunoassays.Lab.Med.2013 ; 44(1) : 69-73.

 

มวลกระดูก : การสร้างและการสลาย

 bmkr

               ตั้งแต่เกิดจนตายกระดูกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งด้านการเจริญเติบโตและความหนาแน่นของกระดูก เซลล์ของกระดูกมีชีวิตอยู่ประมาณ 5-6 เดือน จะตายไป แล้วก็มีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “วงจรชีวิตของกระดูก” (Bone turn over) ถ้าวงจรชีวิตของกระดูกสั้นหรือเร็วขึ้นผลที่ได้คือการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก หรือกระดูกบางหรือกระดูกพรุนนั่นเอง

               กระดูกจะมีความหนาแน่นมากที่สุดเมื่อคนเราอายุ 30 ปี ฉะนั้นการส่งเสริมให้คนอายุต่ำกว่า 30 ปี ได้รับแคลเซียมเพียงพอจะมีผลให้ความหนาแน่นของกระดูกตอนอายุ 30 ปี มีมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการส่งเสริม

                จากอายุ 30 ปี ไปแล้วจะเริ่มมีการสูญเสียมากกว่าการสร้างมวลกระดูกเล็กน้อย แต่เมื่อถึงช่วงวัยทองของผู้หญิง การสูญเสียมวลกระดูกจะรุนแรงที่สุด ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วปีละ 3-5%

               เมื่อเข้าวัยเกษียณอายุการสูญเสียของมวลกระดูกก็จะยังมีอยู่ต่อไปประมาณปีละ 0.5-1.0% และเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ การสูญเสียมวลกระดูกก็จะลดลงไปเรื่อยๆ แต่เมื่อมวลกระดูกลดลง 30 % ขึ้นไปซึ่งทำให้เหลือมวลกระดูกน้อยกว่า 70% กระดูกจะหักได้ง่าย แม้แต่อุบัติเหตุเล็กน้อยหรือแม้แต่การกระแทกเบาๆ หรือก้มตัวเก็บของทำให้กระดูกสันหลังทรุดลงได้โดยง่าย ซึ่งระยะนี้คือระยะกระดูกพรุน ในคนไทยพบว่าผู้หญิงที่อยู่ในระยะอันตรายนี้อยู่ที่อายุ 65 ปี แต่ของผู้ชายกว่าจะถึงระยะนี้จะนานกว่าผู้หญิงเพราะฮอร์โมนเพศยังไม่หมดทันทีทันใดจะค่อยๆ หมดลง และขึ้นกับว่าชายคนนั้นมีปัจจัยเสี่ยงของเรื่องกระดูกพรุนหรือไม่ เช่นการดื่มเหล้า กาแฟ กินยาบางอย่างประจำ ไม่ได้ออกกำลังกาย มีโรคประจำตัว เป็นต้น

               ฉะนั้นการรักษาโรคกระดูกพรุนจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก-ผู้ใหญ่-วัยทอง&วัยชรา ไม่ใช่มารักษาเมื่อกระดูกพรุนแล้ว เพราะไม่สามารถรักษาให้กระดูกหายพรุนได้ เพียงแต่รักษาไม่ให้กระดูกพรุนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการรักษาเมื่อกระดูกพรุนแล้วจะต้องเสียเงินมากกว่ารักษาตั้งแต่กระดูกยังไม่พรุนหลายเท่า และจะให้ดีที่สุดต้องรักษาไม่ให้กระดูกพรุนเกิดขึ้นกับคนไข้จนแก่ตายได้ จึงจะนับว่าเป็นการรักษาที่ถูกต้อง

               ที่ผ่านมามีการตรวจความหนาแน่นของกระดูก Bone Mass Density (BMD) ว่ามีกี่ % ถ้าอยู่ระหว่าง 90-100% ก็พอจะนับว่ามีมวลกระดูกปกติ เมื่อไรมีน้อยกว่า 90 % จึงจะเป็นกระดูกบาง และถ้าน้อยกว่า  70% จะเป็นกระดูกพรุน ฉะนั้นการวัดมวลกระดูกจึงบอกสภาพว่ากระดูกอยู่ในสภาพไหนเท่านั้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะรอให้การวินิจฉัยว่ามีกระดูกพรุนก่อนจึงจะให้การรักษา นั่นคือความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะการวัดมวลกระดูกไม่สามารถบอกได้ว่าในขณะนั้นมีการสลายเนื้อกระดูกสมดุลกับการสร้างกระดูกใหม่หรือไม่ ถ้าสลายมากว่าสร้างและปล่อยให้สภาพนี้เป็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะจบด้วยกระดูกพรุน

               จะทราบได้อย่างไรว่าในขณะนั้นการสูญเสียกระดูกกับการสร้างกระดูกอยู่ในสมดุลหรือไม่ต้อง ใช้วิธีตรวจสารชีวเคมีในเลือดที่เกิดจากการล่มสลายกระดูกและการสร้างกระดูกนั่นคือ Biochemical Bone Markers (BMK)

 *  ข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ “การใช้ประโยชน์ Biochemical Bone Markers (BMK)” โดย ศ.กิตติคุณ นพ. เสก อักษรานุเคราะห์ จัดพิมพ์ โดย Roche Diagnostics (Thailand) Ltd.

สถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย

สำนักคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้รายงานข้อมูลการศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหารที่คนไทยกินอยู่เป็นประจำวัน เมื่อปี 2552 โดยแยกออกเป็นกลุ่มของอาหาร ดังนี้

1. กลุ่มเนื้อสัตว์บก

    เนื้อไก่และหมูจากฟาร์มมีอัตราการตกค้างของยาปฏิชีวนะและสารเร่งเนื้อแดงค่อนข้างสูง กล่าวคือ เนื้อไก่และเนื้อหมูมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะร้อยละ 5.5 และเนื้อหมูมีอัตราการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงร้อยละ 6.0

    ร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปมีการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ และวัสดุกันเสียสูงเกินค่ามาตรฐาน   เนื้อหมูสดที่จำหน่ายในตลาดสดทั่วไปมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ซึ่งก่อให้เกิดโรคในคนได้ เช่นEscherichia coli, Staphylococcus aureus, Clostridium perfringens และ Salmonella spp

    2. กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์

      แม้จะมีการพัฒนาด้านความปลอดภัยของนมมากขึ้น ในปัจจุบัน แต่ยังคงพบปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะและจุลินทรีย์เกินมาตรฐานอยู่เสมอ รวมทั้งคุณภาพด้านโภชนาการของนมที่มีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานสูงถึงประมาณร้อยละ 35

      3. กลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์

        กลุ่มธัญพืชจำพวกถั่วเมล็ด เช่น ถั่วลิสง กากถั่วลิสงและข้าวโพด พบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา โดยเฉพาะสารแอฟลาทอกซินสูงเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 11.36 ขณะที่ ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว พบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น แคดเมี่ยม เมทธิลโบรไมด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น

        4. กลุ่มสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ

          สัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม และมีการวางจำหน่ายเป็นอาหารประจำวันจำพวก กุ้งและปลา หลากหลายชนิด มีการสำรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เช่น Nitrofuran, Chloram phenicol, Oxytetracycline และ Oxolinic acid ในระดับสูงถึงร้อยละ 18.82 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ นอกจากนั้นยังมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เช่น Vibrio parahaemolyticus, Vibrio cholerae และ Salmonella spp ในผลิตภัณฑ์กุ้งกุลาดำ ปลาหมึกแช่แข็ง และสินค้าอาหารทะเลต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ลูกชิ้นปลา เนื้อปลาแช่เย็น และแหนมปลา ยังมีการพบมีการปนเปื้อนของสารเคมีจำพวกบอแรกซ์ ซึ่งห้ามใช้ในอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก

          5. กลุ่มผักและผลไม้

            ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช จากการสำรวจตัวอย่างผักและผลไม้ในตลาดพบว่า พบสารเคมีตกค้างถึงร้อยละ 36 ในจำนวนนี้ร้อยละ 6 มีการตกค้างเกินกฎหมายกำหนด มีการพบสารห้ามใช้ในอาหารเช่น สีสังเคราะห์ สารกันรา และสารฟอกขาวในผักและผลไม่ร้อยละ 22.67 และยังมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว และแคดเมียม ในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ร้อยละ 5 เป็นต้น

            *ข้อมูลจาก : กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ 2554

            ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากควรทำหรือไม่

                           โรคมะเร็งของต่อมลูกหมากเกิดขึ้นในผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงกว่าวัยอื่น เคยมีรายงานวิจัยว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate-specific antigen testing) หรือ PSA ซึ่งถูกนำออกใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พศ. 2533 อาจมีประโยชน์น้อย เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมีการพัฒนาช้ามากอาจใช้เวลา 10-20 ปี ในการพัฒนาของโรคในแต่ละขั้น และการรักษาโดยการผ่าตัดอาจทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้เร็วขึ้น หรือผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยโรคอื่นก่อนโรคมะเร็ง จะแสดงอาการ เป็นต้น

                           อย่างไรก็ตามมีรายงานล่าสุดจากการวิจัยพบว่า ได้ผลขัดแย้งกัน เนื่องจากข้อมูลทางสถิติพบว่า กลุ่มผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการรักษาต่อเนื่องมีอัตราการตายลดลงถึง 22%  และผลจากการวิจัยต่อมาก็พบว่า กลุ่มผู้ได้รับการตรวจคัดกรองมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึงประมาณ 50 % (ข้อมูลจาก ASCP : Daily Diagnosis)

                           ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็เช่นเดียวกับมะเร็งอื่นๆ กล่าวคือ เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาหารและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอาหารมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ปิ้งย่าง หรือทอดด้วยความร้อนสูง จะทำให้โปรตีน และไขมันในเนื้อถูกเปลี่ยนเป็นสาร amines และ hydrocarbons ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยสารจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง ดีเอ็นเอ ในเซลล์ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะเซลล์ของต่อมลูกหมากมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าเซลล์ของอวัยวะอื่นมาก จึงทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ง่าย

            อาร์ซินิก (Arsenic)

                            อาร์ซินิก  เป็นสารที่พบปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปโดยเฉพาะในแหล่งน้ำใต้ดิน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะพบ อาร์ซินิก ในรูปของ arsenite หรือ arsenate ปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มและน้ำใช้ค่อนข้างสูง องค์การอนามัยโลก กำหนดการปนเปื้อนของ อาร์ซินิก  ในน้ำดื่มไว้ไม่ให้เกิน 10 ppb นอกเหนือจากนี้ อาร์ซินิก  ในรูปของ arsenobetaine และ arsenocholine ยังพบปนเปื้อนในอาหารทะเลจำพวก หอย ปู กุ้ง และปลาที่หากินบนผิวดิน ในทางอุตสาหกรรม อาร์ซินิก  ถูกนำมาใช้ในรูปของแกส arsine และสารประกอบอื่นๆเช่น arsenic trioxide ได้ถูกนำมาใช้ทั้งในอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ เพื่อรักษาโรคหลายอย่างเช่น โรคผิวหนัง โรคมะเร็งในเลือด (promyelocytic leukemia) รวมทั้ง arsphenamine ยังเคยถูกนำมาใช้รักษาโรค ซิฟิลิส อย่างกว้างขวางช่วงก่อนมีการค้นพบยาปฎิชีวนะ

                           อาร์ซินิก  ส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางเดินอาหาร บางส่วนผ่านเข้ามาทางระบบหายใจในรูปแบบของ arsenic trioxide เมื่อเข้าสู่กระแสโลหิตจะเข้าไปสะสมในเม็ดเลือด และตับ ทำให้มีอาการโลหิตจาง และตับอักเสบรุนแรง อาร์ซินิก  ในร่างกายจะถูกขับออกโดยผ่านทางปัสสาวะ แต่การกำจัด อาร์ซินิก จะรวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับและสภาวะของผู้ป่วย การสะสมของอาร์ซินิกในร่างกายอาจส่งผลให้มีการเสียชีวิตได้