พิมพ์
Font Size

viverrini

            โรคพยาธิใบไม้ตับจากการติดเชื้อพยาธิ O. viverrini ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย แม้ว่าจะมียาที่สามารถใช้ในการรักษาได้ผลดี แต่การแพร่กระจายของพยาธิใบไม้ก็ยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดรายงานจากการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2535 พบว่ามีประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดเชื้อประมาณ 7ล้านคน และต่อมาในปี พ.ศ.2541 มีรายงานประมาณการติดเชื้อสูงถึง 13.8 ล้านคน ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจะมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนั้นการติดเชื่อพยาธิใบไม้ตับยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญคือ มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma)

cholangiocarcinoma

            มะเร็งท่อน้ำดีเป็นมะเร็งที่พบว่ามีอุบัติการณ์สูงมากในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคใบไม้ตับมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็น 12 เท่าของประชากรในภาคอื่นรายงานพบว่าอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีของประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 54คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นอุบัติการณ์ซึ่งได้ปรับอายุแล้ว 87คนต่อประชากร 100,000 คน เพศชายมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ของประชากรในทวีปยุโรปแล้วรับว่าสูงมาก

            จากการศึกษาที่ผ่านมาทั้งการวิจัยทางคลินิกแบบ case-control study การศึกษาทางด้านระบาดวิทยาและการวิจัยในห้องปฏิบัติการพบว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงที่สุดต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี มีหลักฐานยืนยันสนับสนุนอย่างชัดเจนว่ากลไกสำคัญเกิดจากกระบวนการร่วมกันของการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และการได้รับสารก่อมะเร็ง ซึ่งได้แก่ ในโตรซามีน ซึ่งสารนี้พบได้มากในอาหารจำพวกหมักดองต่างๆ เช่น ปลาร้า ปลาส้ม ปูดอง และผลไม้ดองต่างๆ

            สำหรับการรักษามะเร็งท่อน้ำดีนั้นปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับการผ่าตัดเป็นหลักซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะกำจัดเนื้อมะเร็งออกให้มากที่สุด ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ต้องใช้วิธีฉายรังสี การผ่าตัดมะเร็งท่อน้ำดี อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะเวลา 5 ปี อยู่ระหว่างร้อยละ 8 ถึง 44 หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของเซลล์มะเร็ง สำหรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะใช้การควยคุมโรคและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ผู้ป่วยซึ่งตรวจพบมะเร็งขึ้นใหม่และผู้ป่วยซึ่งมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น ยาเคมีบำบัดที่ใช้เป็นหลักคือ 5-Fluorouracil (5-FU) โดยใช้ในรูปยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น methotrexate, leucoverin, cisplastin, mitomycin-C, หรือ interferon alpha (IFN-) อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยเคมีบำบัดดังกล่าวนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการยืดอายุผู้ป่วยได้อย่างมี่นัยสำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนายาและ adjuvant ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการบำบัดมะเร็งท่อน้ำดีให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            มะเร็งตับที่มีอุบัติการณ์สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ผู้ป่วยส่วนมากเป็นชายและมักอยู่ในวัยทำงานความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจึงเป็นความสูญเสียของทั้งครอบครัว นับเป็นปัญหาทางสาธารสุขของประเทศที่สำคัญ สาเหตุของการเกิดมะเร็งพบว่ามีปัจจัยร่วมหลากหลาย และประกอบด้วยขบวนการหลายขั้นตอน ทำให้การควบคุมโรคมีได้หลายวิธีนับตั้งแต่การป้องกันการเกิดมะเร็งไปจนถึงการรักษา อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งท่อน้ำดีในปัจจุบันมักไม่ได้ผลเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการทางคลินิกใดๆ ที่จำเพาะในระยะแรก ผู้ป่วยมีอาการต่อเมื่อการดำเนินของโรคก้าวหน้าไปมาก การรักษาโดยการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะโรคก้าวหน้าไปแล้วจึงได้ผลน้อยมาก รวมทั้งการใช้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษาก็ไม่ได้ผล ผู้ป่วยมีมักเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น การค้นหาสารที่สามารถให้ผลรักษาและมีอาการพิษต่ำจึง มีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน