พิมพ์
Font Size

ปรอท (Mercury)

            ปรอทมีรูปแบบปรากฏอยู่ 3 ลักษณะ คือ (1) รูปของโลหะ (metallic mercury) ซึ่งเป็นของเหลวในอุณหภูมิปกติ (2) รูปแบบที่ปรอทจับตัวกับ chlorine, sulfur หรือ oxygen เกิดเป็นสารประกอบอนินทรีย์ หรือเกลือ และ (3) ปรอทที่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ เช่น methylmercury และ ethylmercury ได้เคยมีการนำปรอทมาใช้ในรูปแบบของ ของใช้ประจำวันหลายอย่าง เช่น ยา วัคซีน เครื่องสำอาง และในทาง  ทันตกรรม เป็นต้น

            ปรอทเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ไอละเหยของโลหะปรอท ผ่านเข้าทางการหายใจ หรือผ่านทางผิวหนังโดยตรง รวมทั้งปรอทที่อยู่ในสารอุดฟันเป็นต้น แต่การเข้าสู่ร่างกายวิธีนี้ของปรอทถือว่าไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก ทางที่ปรอทเข้าสู่ร่างกายที่ถือว่าสำคัญที่สุดคือผ่านทางอาหาร โดยเฉพาะ จากปลาทะเล ชนิดกินเนื้อที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารระดับสูง เช่น ปลาฉลาม ปลาดาบ ปลาแมคาดอร์เรล และปลาทูน่า เป็นต้น เคยมีรายงานพบปริมาณปรอทในเนื้อปลาฉลาม สูงถึง 4.540 ppm ซึ่งถือว่าสูงมาก มีคำแนะนำว่าไม่ควรกินปลาทูน่ากระป๋องเกินกว่าสัปดาห์ละ 170 กรัม สารประกอบปรอทในเนื้อปลาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสูงคือ methylmercury ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์น้ำโดยเฉพาะ เนื้อปลา ซึ่งแม้ทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถกำจัดออกไปให้หมดได้

            สำหรับ ไอปรอท ที่ผ่านเข้าทางระบบหายใจมีความเป็นพิษสูงมาก สามารถผ่านเข้าสู่สมอง ผ่านเข้าสู่เด็กในครรภ์ ก่อให้เกิดอาการพิษ และอาจถึงแก่ชีวิตถ้าได้รับในปริมาณมาก อาการพิษจากไอปรอท แบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 เกิดขึ้น 1-3 วันหลังจากการได้รับไอปรอท อาการที่พบคล้ายกับโรคหวัด ช่วงที่ 2 จะมีอาการทางระบบหายใจและปอด ช่วงที่ 3 จะมีอาการอักเสบของเยื่อบุในปากและคอ สูญเสียความทรงจำ นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกระตุก และตัวสั่นเป็นต้น

           Methyl mercury (MeHg) ส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายจากการกินปลา หรือสัตว์น้ำที่มีสารปรอทอยู่ในเนื้อ อาการพิษที่พบระยะแรกมักไม่ชัดเจน แต่อาจเสียชีวิตได้แม้ได้รับในปริมาณไม่มากนัก ปรอทเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้มีการทำลาย เซลล์ประสาทในสมองส่งผลให้ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ มีอาการตัวสั่น สูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน และยังสามารถถ่ายทอดไปถึงลูกในครรภ์ได้

           สำหรับ Mercuric chloride (HgC2) แม้จะเป็นพิษต่อระบบประสาทเช่นกัน แต่การดูดซึมผ่านทางระบบทางเดินอาหารเป็นไปได้น้อยมาก จึงไม่มีความสำคัญมากนัก เช่นเดียวกับ ethylmercury ที่ปัจจุบันยังไม่รู้ถึงความเป็นพิษมากนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์