'หมอมนูญ' เจอเคส ผู้ป่วยโควิด ติดครั้งที่ 2 ห่างกัน 19 วัน เผยอาการหนักกว่าครั้งแรก
 
 
 

‘หมอมนูญ’ เจอเคส ผู้ป่วยโควิด ติดครั้งที่ 2 ห่างกัน 19 วัน เผยอาการหนักกว่าครั้งแรก แม้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว คาดติดเชื้อต่างสายพันธุ์ระหว่างเดินทาง

 

วันที่ 5 ส.ค.65 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ “หมอมนูญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เล่าถึงผู้ป่วยโควิด-19 ความว่า ไวรัสโควิด-19 ติดครั้งที่ 2 ห่างกัน 19 วัน

 
 

ผู้ป่วยชายไทยอายุ 67 ปี มาโรงพยาบาลด้วยไข้ ไอ มีเสมหะ 10 วัน ประวัติเดินทางไปเที่ยวประเทศอิตาลี ขึ้นเครื่องบินวันที่ 20 มิ.ย.65 หลังเดินทางไปถึงประเทศอิตาลี 4 วัน วันที่ 24 มิ.ย. เริ่มมีอาการไข้ ไอ เสมหะ ตรวจ ATK เองได้ผลบวก ภรรยาที่ไปด้วย มีอาการคล้ายกัน และตรวจ ATK ให้ผลบวกเหมือนกัน ทั้ง 2 คนกินฟ้าทะลายโจร อาการดีขึ้นหายเป็นปกติ เดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 9 ก.ค.

หลังกลับถึงกรุงเทพ 4 วัน วันที่ 13 ก.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอและมีเสมหะอีก ตรวจ ATK เองให้ผลลบ กินยาปฏิชีวนะไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีไข้ ไอ มีเสมหะต่อเนื่อง 10 วัน เริ่มเหนื่อย ผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาหายแล้ว หยุดยาทุกอย่าง 5 ปี ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม

ตรวจร่างกาย มีไข้อุณหภูมิ 39.5 องศาเซลเซียส ฟังปอดผิดปกติทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวที่ปอดด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำเล็กน้อย 94 ตรวจ ATK และ RT-PCR SARS-CoV2 ให้ผลบวก ค่า RdRp/N-gene (CT Value) 17.4 ส่งตรวจ respiratory virus และ bacteria PCR panel ไม่พบไวรัส และแบคทีเรียตัวอื่นๆที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค

วินิจฉัยเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งที่ 2 ให้ยาฉีดเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) 5 วัน และเสตียรอยด์ทางหลอดเลือด คนไข้ดีขึ้น ไข้ลง ไอน้อยลง ไม่เหนื่อย เอกซเรย์ปอดดีขึ้น หยุดใช้ออกซิเจน ระดับออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ

 

ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัสโควิด 2 ครั้งห่างกันเพียง 19 วัน เชื่อว่าติดเชื้อต่างสายพันธุ์ระหว่างเดินทางในเครื่องบินทั้งขาไปและขากลับ เพราะเวลากินอาหารในเครื่องบินต้องถอดหน้ากากอนามัย ติดเชื้อครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าติดเชื้อครั้งแรก ทั้งๆที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจมีภูมิคุ้มกันไม่ดี เนื่องจากเคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถึงแม้จะรักษาหายขาด 5 ปีแล้วก็ตาม

ข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_7197867

 

ผงะ! พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน BA.4.6"  น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่

 ผงะ! พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน BA.4.6" น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยระบาดมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอีก 43 ประเทศทั่วโลก

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

มาใหม่อีกแล้ว !! ไวรัส BA.4.6 พบมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอีก 43 ประเทศทั่วโลก ส่อผลกระทบต่อวัคซีนใหม่เจนเนอเรชั่นที่ 2

จากสถานการณ์โควิดทั่วโลก ที่ในขณะนี้มีการระบาดไปมากกว่า 230 ประเทศและเขตการปกครอง

มีผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 588 ล้านคน เสียชีวิตมากถึง 6.4 ล้านคน คิดเป็น 1.1%
โดยสายพันธุ์หลักของไวรัสก่อโรคโควิดในขณะนี้คือ Omicron (โอมิครอน) ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มน่าเป็นห่วงกังวลหรือ VOC

Omicron มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย (Sub-variant) ไปอีกเป็นจำนวนมาก

แต่ที่โดดเด่นมากสุดในขณะนี้คือ BA.4 , BA.5 โดยความสามารถในการแพร่เชื้อสูงสุดในขณะนี้ได้แก่ BA.5 ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่าไวรัสอู่ฮั่น 5 เท่า และแพร่ได้เร็วกว่าไวรัส Delta  3.6 เท่า

ในสหรัฐอเมริกาเองพบ BA.5 เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย BA.4 เช่นเดียวกับในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ในสหรัฐอเมริกา ได้พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ BA.4.6

สามารถแซงไวรัสตัวอื่น ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ตามหลังเพียง BA.4/BA.5 ด้วยสัดส่วน 4.1%

ตามหลังอันดับสอง BA.4 ที่ 7% และ BA.5 ที่ 84%

พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน BA.4.6"

 

พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน BA.4.6"

อย่างไรก็ตามการที่ BA.4.6 สามารถเพิ่มจาก 0% เป็น 4.1% ในเวลาอันสั้นนั้น บ่งบอกถึงความสามารถในการแพร่ระบาดที่แซงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆขึ้นมาได้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยพบว่าใน 4 มลรัฐที่พบมากคือ ไอโอวา (Iowa) แคนซัส(Kansas) มิสซูรี(Missouri) และเนบราสกา(Nebraska) พบ BA.4.6 มากถึง 10.7%

และในรัฐที่อยู่ในเขตแอตแลนติกกลาง และรัฐทางใต้ ก็พบผู้ติดเชื้อ BA.4.6 มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
 

คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ BA.4.6 จะมีความสามารถในการแพร่เร็ว ก่อโรครุนแรง ลดภูมิต้านทาน และดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด

และมีความแตกต่างของสารพันธุกรรมจาก BA ก่อนก่อนอย่างไร

เพราะในขณะนี้วัคซีนใหม่รุ่นที่ 2 หรือเจนเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯได้ผลิตสำเร็จ รอการอนุมัติจะฉีดในเดือนกันยายนนี้

ไม่ได้เตรียมไว้รับมือ BA.4.6 ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาหลังการวิจัยวัคซีนรุ่นที่สองสำเร็จ แต่เตรียมไว้รับมือ Omicron BA.1,.2,.5

ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมอย่างมากของ BA.4.6 ก็จะทำให้วัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่ยังไม่ได้เริ่มฉีดให้กับประชาชนเลย มีประสิทธิผล ในการรับมือโควิดได้น้อยลงทันที

นับเป็นเรื่องที่ปวดเศียรเวียนเกล้าสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีน ให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของไวรัส คงต้องติดตามกันต่อไป

ข้อมูลจาก https://www.thansettakij.com/general-news/535597

 

 
"ติดโควิดซ้ำอาการ" เป็นอย่างไร ห่างกี่เดือนเป็นได้อีก อาการหนักมั้ย
 
 

"ติดโควิดซ้ำอาการ" เป็นอย่างไร อาการหนักแค่ไหน หมอยงเปิดข้อมูลเป็นแล้วเป็นได้อีกส่วนใหญ่เว้นระยะห่าง 3 เดือน ไม่อยาก ติดโควิดรอบ 2 ต้องควรทำแบบบนี้เพื่อป้องกันไว้

ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงกรณีการ ติดโควิดรอบ 2 และ "ติดโควิดซ้ำอาการ" ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไร สำหรับคนที่เคนติดโควิดมาแล้วมีโอกาสจะ ติดโควิดซ้ำ ได้อีกภายในกี่เดือน โดย หมอยง ระบุ รายละเอียด ดังนี้ โควิด 19 เป็นแล้วเป็นซ้ำได้อีก โรคโควิด 19  เมื่อเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก โดยทั่วไปการเป็นซ้ำ มักจะเกิดขึ้นหลัง 3 เดือนไปแล้ว แต่ก็มีหลายคน  เป็นซ้ำแบบมีอาการและตรวจพบชัดเจนตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป การเป็นซ้ำพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ 
 

ศ.นพ.ยง ระบุว่าเพิ่มเติม "ติดโควิดซ้ำอาการ" เบื้องต้นจากการศึกษาของเรา ที่ศูนย์ จุฬา ในผู้ป่วยที่ยืนยันหลักฐานว่าเป็นซ้ำ ครั้งที่ 2 ประมาณ 40 คนการเป็นครั้งที่ 2 มีทั้งที่มีอาการมากกว่า และมีอาการน้อยกว่า แต่ส่วนใหญ่ จะมีอาการน้อยกว่า และการรักษาในกรณีที่เป็นซ้ำ ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ ในการเป็นครั้งแรกเกือบทั้งหมดได้รับยาต้านไวรัส favipiravir และเมื่อเป็นครั้งที่ 2 ไม่มีใครที่มีอาการหนัก หรือปอดบวม จนระดับออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเลย อาจจะเป็นเพราะว่าระบบภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นทั้งวัคซีน และการติดเชื้อช่วยลดความรุนแรง และมีหลายรายติดเชื้อแล้วยังได้รับวัคซีนอีก ทำให้การเป็นซ้ำครั้งที่ 2 ความรุนแรง ถึงขั้นรุนแรงมากน้อยลงอย่างมาก ตามคำจำกัดความของการเป็นซ้ำ  ส่วนใหญ่จะให้ระยะห่างจากการเป็นครั้งแรกกับครั้งที่ 2 ห่างกัน 3 เดือน
 

ศ.นพ. ยง ระบุ เพิ่มเติม ว่า อย่างไรก็ตามการ  "ติดโควิดซ้ำอาการ"  สามารถเกิดขึ้นได้  ดังนันโรคนี้จึงคล้ายกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดทั่วไป ที่เป็นแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นในผู้ป่วยที่เคยเป็นแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนในระยะเวลาที่เหมาะสม เรากำหนดไว้ว่าถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม เมื่อติดเชื้อ ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 1 ครั้ง ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหลังติดเชื้อวันแรกถ้าฉีดวัคซีนมาแล้วครบ  2 เข็มหรือมากกว่า แล้วติดเชื้อ การติดเชื้อจะเปรียบเสมือนเป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3  ภูมิต้านทานจากกระตุ้นได้ดี ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นหลังติดเชื้อ  6 เดือนขึ้นไปนับจากวันที่ติดเชื้ออีก 1 ครั้ง เพื่อรักษาระดับภูมิต้านทานให้คงสูงอยู่ลดการติดเชื้อซ้ำ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/525341?adz=

"ฝีดาษลิง" มีคำตอบ ทำไมตุ่มจึงขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ?
 
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นโรค "ฝีดาษลิง" หรือฝีดาษวานร หาคำตอบกรณีผู้ติดเชื้อทำไมตุ่มจึงขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ย้ำเป็นโรคที่ยากต่อการควบคุม แต่ติดยากกว่าโควิด-19 เป็นร้อยเท่า

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นโรค "ฝีดาษลิง" หรือฝีดาษวานร หาคำตอบกรณี ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทำไมตุ่มจึงขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ

 

ลักษณะแตกต่างของตำแหน่งที่ผื่นขึ้นหรือตุ่มน้ำ ระหว่างผู้ป่วยที่เกิดในแอฟริกากับผู้ป่วยที่พบนอกแอฟริกา จะเห็นว่าประมาณ 40% ของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นนอกแอฟริกามีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือส่วนที่ทำกิจกรรมทางเพศ

ทั้งนี้เพราะ การเกิดในแอฟริกาส่วนใหญ่เริ่มต้นจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู การที่เราได้รับเชื้อฝีดาษลิงจะรับเชื้อทางการสัมผัส หรือเข้าทางระบบทางเดินหายใจ เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้เมื่อยเนื้อ เมื่อยตัว แล้วหลังจากนั้นจึงมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น

การเกิดจะเกิดส่วนปลายของร่างกายก่อน เช่น แขน ขา ศีรษะ แล้วค่อยมาที่ลำตัว ดังนั้นการเกิดจากการกระจายไปตามกระแสโลหิต ลักษณะตุ่ม จึงเกิดในระยะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันหรือเรียกว่าสุกพร้อมกัน

แต่การเกิดในผู้ป่วยนอกแอฟริกาจะมี 2 ระยะ ระยะแรกคือ การสัมผัสโดยเฉพาะในกิจกรรมทางเพศ เชื้อจะเข้าตามรอยถลอกของร่างกาย จึงเปรียบเสมือนเป็นการปลูกฝีแบบสมัยก่อน สมัยก่อนเราปลูกฝีโดยการหยดหนองฝีที่ต้นแขน แล้วใช้เข็มแหลม สะกิดหรือข่วน ให้เป็นรอยถลอกเล็กน้อย ตุ่มหนองฝี จะขึ้นตามตำแหน่งที่เราข่วน หรือรอยถลอก แล้วก็หายไป ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้น ยกเว้นในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำ เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วเกิดการกระจายตัวของตุ่มได้ทั้งตัว

การเกิดตุ่มในผู้ป่วยนอกแอฟริกาที่กำลังระบาดอยู่นี้ หลายหมื่นคน จะอยู่ในกลุ่มเพศชายถึง 98% และมีตุ่มเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศถึง 40% และผู้ป่วยมักจะพบร่วมกับโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย

การเกิดโรคฝีดาษลิงจึงมี 2 ระยะ

  • ระยะแรก ตุ่มที่ขึ้นจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศก่อน เกิดจากเชื้อสัมผัสกับรอยขูดถลอก หรือบริเวณที่สัมผัส รอยโรคจะเกิดขึ้นคล้ายกับการปลูกฝี
  • แต่เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต แล้วกระจายไปทั่วจึงค่อยเกิดตุ่ม ที่ศีรษะแขนขาและลำตัว ตามมาทีหลัง ระยะต่างๆของตุ่มที่เกิดจึงไม่ได้อยู่ในระยะเดียวกันทั้งหมด

การติดต่อของโรคฝีดาษลิง ที่เกิดขึ้นนอกแอฟริกา จึงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และเป็นเพศชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อไปในอนาคต กิจกรรมทางเพศจะกระจายไปเข้าสู่เพศหญิงได้แล้วในที่สุด โรคนี้จึงเป็นโรคที่ยากต่อการควบคุม

อย่างไรก็ตามการติดของโรคนี้ ติดได้ยากกว่าโรคโควิด-19 เป็นร้อยเท่า ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้รับเชื้อในระยะแรกนี้

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ล่าสุด กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรค "ฝีดาษลิง" หรือฝีดาษวานร รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทยอายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติที่สถานบันเทิงใน กทม.

CR เฟซบุ๊ก หมอยง

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/public_health/1019441?anf=

เทียบชัดๆ โรคฝีดาษลิง vs โรคเริม คล้ายหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
 
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เทียบให้เห็นชัดๆความแตกต่างของโรค "ฝีดาษลิง" กับ "โรคเริม" คล้ายหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เทียบให้เห็นชัดๆความแตกต่างของโรค "ฝีดาษลิง" กับ "โรคเริม" การติดต่อ อาการ ระยะฟักตัวรวมถึงแนวทางการรักษาไปดูว่าทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างและความคล้ายกันอย่างไรบ้าง

โรคฝีดาษลิง เชื้อก่อโรคตระกูลฝีดาษหรือ Pox Virus การติดต่อ ประกอบด้วย การสัมผัสสารคัดหลั่ง รอยโรคและละอองฝอยจากทางเดินหายใจ ติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือ ติดต่อจากคนสู่คน ระยะฟักตัวจะอยู่ที่ 7-21 วัน
อาการ 

อาการฝีดาษลิง จะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนอาการที่แสดงทางผิวหนัง จะมีแผลในปากตามด้วยผื่นแดง ตุ่มน้ำ โดยตุ่มน้ำอาจมีรอยบุ๋มเล็กๆตรงกลางและกลายเป็นตุ่มหนองแล้วจึงตกสะเก็ด ส่วนรอยโรคจะอยู่ในระยะเดียวกัน 

การรักษาฝีดาษลิง 

แบบประคับประคองและรักษาตามอาการ ยาต้นไวรัส (tecovirimat) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา 

โรคเริม 

สำหรับ เริม อีสุกอีใส และงูสวัด เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกัน (Herpes simplex virus) การติดต่อก็จะเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง รอยโรค การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อจากคนสู่คน โดยที่มีระยะฟักตัว 3-7 วัน 

อาการเริม 

ประกอบด้วย อาการเจ็บ ปวดแสบร้อน คันบนตำแหน่งที่เกิดรอยโรค ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตบางราย ส่วนอาการที่แสดงออกทางผิวหนัง คือ ตุ่มแดง และตุ่มน้ำที่เจ็บบนพื้นแดงอาจจะมีรอยบุ๋มเล็กๆตรงกลาง ต่อมากลายเป็นตุ่มหนองและแผล หรือแผลถลอกตกสะเก็ด รอยโรคจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่กระจายตัว

การรักษาเริม 

รักษาตามอาการร่วมกับยาต้านไวรัส เช่น acyclovir , famciclovir , valacyclovir

เทียบชัดๆ โรคฝีดาษลิง vs โรคเริม คล้ายหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1019484?anf=

รักษาโควิดผ่าน Telemedicine ถ้าอาการเข้าเกณฑ์ จะได้ยาฟาวิฯ-โมนูลฯ แน่นอน
 
“อนุทิน” มอบ สปสช.จัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยเสริมแรงโรงพยาบาล ย้ำการรับบริการผ่านระบบ Telemedicine หากแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องได้รับยา ก็จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ให้ถึงบ้านแน่นอน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้ สปสช.จัดระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อเสริมกำลังช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและเป็นอีกทางเลือกในการรับบริการแก่ประชาชน

โดย สปสช. ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine จำนวน 3 ราย ได้แก่ แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี), แอป Good Doctor (กู๊ด ด็อกเตอร์) และแอป Clicknic (คลิกนิก) 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้ารับบริการในช่องทางนี้ จะได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน ได้พบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ได้รับยารักษาตามอาการ และในกรณีแพทย์มีความเห็นว่าอาการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ ก็จะได้การจัดส่งยาให้ถึงที่บ้าน โดยเป็นยาที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข

  • รักษาโควิดผ่านแอปฯ อาการเข้าเกณฑ์ได้รับยาฟาวิฯ

ทั้งนี้ พื้นที่การดูแลของแต่ละแอปจะแตกต่างกัน  ซึ่งแอป Clicknic (คลิกนิก) จะรับดูแลทั้งผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีเขียว และผู้ป่วยโควิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยให้บริการทั่วประเทศ

ขณะที่แอป MorDee (หมอดี) และแอป Good Doctor (กู๊ด ด็อกเตอร์) จะดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีเขียว แต่ไม่รับกลุ่ม 608 และดูแลเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) 

"กระบวนการดูแลไม่ต่างจากการไปรับบริการที่โรงพยาบาล เพียงแต่ทุกอย่างทำผ่านออนไลน์ ระบบ Telemedicine นี้ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อ และถ้าอาการเข้าเกณฑ์ก็ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์แน่นอนนพ.จเด็จ กล่าว

การให้บริการขณะนี้ครอบคลุม 2 สิทธิการรักษาแล้ว จากเดิมดูแลเฉพาะผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) โดยกรมบัญชีกลางได้ออกหลักเกณฑ์รองรับเพื่อให้ข้าราชการและครอบครัวที่ป่วยโควิดลงทะเบียนรักษาแบบ Telemedicine กับ 3 แอปพลิเคชันได้เช่นกัน 

  • เช็กช่องทางรักษาโควิดผ่าน Telemedicine

เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า นอกจากช่องทาง Telemedicine แล้ว ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดสิทธิบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการแล้ว สปสช.ยังจัดระบบเสริมอื่นๆ เช่น การไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ ที่ตอนนี้ครอบคลุม 3 สิทธิรักษาพยาบาลเช่นกัน หรือไปใช้บริการเจอ แจก จบ ที่หน่วยบริการตามสิทธิการรักษา รวมถึงการโทรมาที่สายด่วน 1330 เพื่อแจ้งอาการ

หากจำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์ เจ้าหน้าที่ก็จะจัดส่งยาถึงบ้านให้เช่นกัน แต่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ กทม. และปริมณฑล 5 จังหวัดเท่านั้น เนื่องจากในต่างจังหวัด สถานพยาบาลยังจัดการได้ดี

ทั้งนี้ สามารถเลือกลงทะเบียนตามแบบฟอร์มลงทะเบียนโครงการ Self-Isolation สำหรับผู้ป่วย COVID-19 สนับสนุนโครงการโดย สปสช. และ สวทช. ผ่านการให้บริการบน  

1. แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด : https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57  
รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว และกลุ่มเสี่ยง 608 ทั่วประเทศ สิทธิบัตรทอง/สวัสดิการข้าราชการ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic 

2. แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) : https://forms.gle/YKVMKy1p8FRDDBje7  
รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 เฉพาะที่ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เท่านั้น สอบถามเพิ่มเติม Line ID: @GDTT  

3. แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ปจำกัด : https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p  
รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 เฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น  สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp 

สำหรับบริการ เจอ แจก จบ ที่ร้านยา เป็นบริการครอบคลุมทั่วประเทศ รับทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ สามารถดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน คลิก https://www.nhso.go.th/downloads/197

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/public_health/1019483?anf=

อาทิตย์, 31 กรกฎาคม 2565
'หมอธีระวัฒน์' ติดโควิดพันธุ์ใหม่! สรุปบทเรียน 7 ข้อ เตือนคนไทย
11 กรกฎาคม 2565 เวลา 8:31 น.

11 ก.ค. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประสบการณ์หมอเองติดโอมิครอน BA4/5

หมอเองติดไปแล้วตั้งแต่ 10 มิถุนายน และเช่นเดียวกับอีกหลายคน ตั้งแต่ค้นเดือนมิถุนายน แม้ว่าหลายคนจะฉีดเข็มที่สี่หรือห้า หรือหก ไปแล้ว พิสูจน์ว่า วัคซีนกัน “การติด” โอมิครอนไม่ดี โดยเฉพาะสายย่อยนี้

แต่อานิสงส์ของการฉีดวัคซีน

”สามเข็มโดยเข็มสุดท้ายเป็น mRNA” จะลดความเสี่ยงอาการหนักได้ แต่ถ้าอาการมากขึ้นอย่านิ่งนอนใจ

ถ้าฉีดเชื้อตายให้เริ่มนับใหม่ ถ้าฉีด AZ ต้องตามด้วย mRNA

และถ้าจะให้หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีนให้ได้มากที่สุดควรต้องฉีด”ชั้นผิวหนัง”

สรุปบทเรียนจากเดือน มิ.ย. นี้จากตัวเอง และรอบข้างที่ติด

1.*อย่าเชื่อ ATK ถ้ายังขีดเดียวและมีอาการไม่สบายให้รีบแยกตัว

เริ่มฟ้าทะลายโจร อย่ากินตามฉลาก ให้เทียบว่ายี่ห้อนั้นมี แอนโดรกราโฟไลท์ เท่าไหร่ ให้ทาน = 60 มก. เช้า กลางวัน เย็น 5วัน ในเด็กทาน 10 มก. เช้า กลางวันเย็น 5 วัน เช่นกัน

สังเกตตนเอง ถ้าเริ่มแย่ลง เอาไม่อยู่ให้เรียกเพื่อน ส่ง รพ. (ตลอดเดือน ก.ค. ถึง วันที่ 10 ก.ค. นี้ รพ. มักเต็ม รอคิวเพียบ!!)

2.ฟาวิพิราเวียอาจได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ อย่าชะล่าใจ ตามที่คณะของเราได้เคยรายงานไปแล้วว่าเริ่มดื้อมานานพอควรแล้ว

ทั้งนี้ แม้ว่ารักษาทันที ตั้งแต่วันแรก ใช้ยาถูกขนาด แต่รหัสพันธุกรรมตั้งแต่สมัยอัลฟา และ เดลตา ผันแปรไปจากเดิมเยอะมากและเมื่อรักษาไปครบห้าวันกลับไม่ได้ผล

อาการปอดบวมมากขึ้น โดยมีรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไปอีกมากและต้องทำการเปลี่ยนยาใช้ ยาฉีด remdesivir

3.ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด เมื่อไม่สบาย และคิดว่าอาการไม่หนัก ทั้งนี้คงจำกันได้ โควิดทำให้ออกซิเจนต่ำโดยไม่รู้ตัว (happy hypoxemia)

หมอเอง ต้องเดิน 6 นาทีความอิ่มตัวของออกซิเจนเริ่ม <96% และเหนื่อยล้ามาก จนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษา ด้วยยาฉีด

เพราะชะล่าใจว่าไม่น่าติด และทำงานได้มีแต่ fatique บ้าง จนอาการยกระดับขึ้นมากมาย

4.ติดสายย่อยทันสมัยนี้ไปแล้ว

***อย่าทะนงตัวว่า มีภูมิคุ้มกันทั้งสองแบบ คือจากวัคซีนที่เคยฉีดแล้วมีติดเชื้อตามธรรมชาติ

เพราะโอมิครอนสายย่อยนี้ วัคซีนที่เคยฉีด รวมทั้งที่เคยติดโควิดมาก่อน เมื่อเจอกับโอไมครอนสายทันสมัยนี้ ภูมิคุ้มกันจะไปต่อสู้กับสายเดิมตั้งแต่อู่ฮั่น อังกฤษ เดลตา ภูมิต่อโอมิครอน ขึ้นน้อยมาก จนถูกขนานนามว่า สามารถ ทำให้เกิด hybrid immune damp คือ “ภูมิเดี้ยงไปเลย”

5.“อาจ” สบายใจได้ประมาณ 2-3เดือน (ถ้าโชคดี) และเตรียมตัวติดใหม่ได้

คนที่ติด โอไมครอน BA 1/2 ไปหยกๆ อาจติด 4/5 ได้เลย ไม่ต้องรอ 2-3 เดือน

6.รายงานจากต่างประเทศจะว่าลองโควิดจากโอมิครอนน่าจะน้อยกว่าโควิดก่อนหน้า แต่ทั้งนี้ เป็นโอไมครอนสมัยแรก และสายย่อยใหม่นี้ ถ้าติดซ้ำซ้อนหลายครั้งจะเกิดอะไรขึ้น กับลองโควิด

7.ประมาณกันว่าภายในเดือนกันยายน ตุลาคมนี้ โควิดน่าจะปรับเปลี่ยน ทั้งนี้เป็นโอมิครอนสายย่อยใหม่หรือเป็นสายใหม่ หรือ เรียกง่ายๆ แล้วกันว่า สายทันสมัยกว่า

สรุปว่า : ถ้าไม่ติดได้จะเป็นดี หรือถ้า “ซวย” ติดไปแล้ว หัวใจสำคัญ รักษาเร็วที่สุดให้หายเร็วที่สุดเพื่อกันลองโควิด

ข้อสังเกต : ยาต้านไวรัส molnupiravir ยังใช้กันได้ paxlovid ในบางราย ระวัง rebound ดูหายแลัว ไวรัสปะทุใหม่ และติดคนอื่นต่อได้

ยาต้าน ในเดือนกรกฎาคมนี้ หลายโรงพยาบาล ไม่ให้เบิก เป็นขายแล้ว molnupiravir ชุดละเป็นหมื่น

ข้อปลอบใจ : เบื่อไหม เบื่อ แต่ชีวิต ต้องอยู่ให้ได้ ประเทศ ต้องเดินหน้าต่อ มีวินัยกันต่อก็ไม่เสียหาย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1 ส.ค. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ลองโควิด” ..การป้องกันและรักษา

ลองโควิดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่การติดเชื้อได้จบสิ้น (เชื้อไม่พบแล้ว)

1.อาการของลองโควิด ไม่ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่เป็นตอนแรก

2.เกิดได้ทุกอายุ ได้ทุกเพศ แต่แนวโน้มในต่างประเทศ อาจเจอในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุ 18 ถึง 30 ปี และทุกอายุที่สูบบุหรี่อ้วน และแน่นอนมีโรคประจำตัวต่างๆ

 

3.เกิดอาการได้ตั้งแต่หัวจดเท้า หลายระบบหรืออวัยวะพร้อมกัน และทางความรู้สึกทางเพศ ลด หรือหายไป ทั้งชาย หญิง และประจำเดือนผิดปกติ ร่วมเพศมีอาการเจ็บปวด

4.เป็นอาการเดิมขณะติดเชื้อที่สามารถทอดยาวนานกว่าสามเดือน หรือ อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการใหม่

5.กลุ่มอาการเป็นลักษณะที่เรารู้จักกันดีมานานแล้ว เกือบ 80 – 90 ปี ในรูปของ chronic fatique syndrome หรือ Myalgia encephalomyelitis ในไวรัสต่างๆ แต่โควิดเกิดได้รุนแรง และยาวนานกว่าไวรัสตัวอื่นๆ มาก

6.กลุ่มอาการทางสมองและจิตอารมณ์พบได้ 30% หรือมากกว่า และส่งผลทำให้เฉื่อยชา คิดช้า ความจำสั้น สมองเสื่อมและอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่แล้วหรือกำลังจะเป็น โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน

7.หลักในการบำบัด ต้องทำการยับยั้งการอักเสบ โดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาด้วย และยังต้องประกอบด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้มีการกระตุ้นการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาหารร้อนแรงที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น เนื้อแดง ระวังพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีฆ่าหญ้าฆ่าแมลง รวมกระทั่งถึงมลพิษพีเอ็ม 2.5 เป็นต้น

8.จากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ควรปล่อยตัวให้ติด เพราะอาจเคราะห์ร้ายระยะยาว และยิ่งติดซ้ำ ลองโควิดจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

9.วิธีที่ “อาจ” ป้องกันการเกิดลองโควิด ได้คือการให้การรักษาเร็วที่สุดเมื่อรู้ว่าติด เพื่อให้ระยะของการติดเชื้อสั้นที่สุด

10.ตากแดด เดินหมื่น อบร้อน เข้าใกล้มังสวิรัติ ลดแป้ง

เพียงขยันเท่านั้น ไม่เสียสตางค์ ลดการอักเสบ อัตโนมัติ กินผักผลไม้กากไยให้มาก เท่านี้เอง

ถูกแดดเช้า หรือ บ่าย เย็น และอากาศร้อน อาบน้ำร้อน มีหลักฐานแล้ว ลด mitochondrial stress ลดอนุมูลอิสระ จนเพิ่ม innate immunity เดินวันละ 10,000 ก้าว

ถึงเวลาสร้างความแข็งแกร่ง ทุกระบบของภูมิคุ้มกัน ต่อสู้การติดเชื้อ เพราะวัคซีนตามไวรัสไม่ทัน และแม้พลาดท่า ติดแล้ว มีลองโควิด ก็เอาอยู่

งานวิจัยและพัฒนาเชิงรุกผลกระทบลองโควิด ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/191378/

 

WHO คาดจะมีผู้เสียชีวิตฝีดาษลิง เพิ่มขึ้น
 
องค์การอนามัยโลก เผย มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ หลังมีรายงานผู้เสียชีวิตนอกภูมิภาคแอฟริกา ขณะที่ WHO ย้ำยังไม่พบโรคแทรกซ้อนรุนแรงที่พบบ่อย

แคเทอรีน สมอลวูด (Catherine Smallwood) ผู้จัดการด้านโรคฝีดาษลิงขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป (WHO) กล่าวว่า การแพร่ระบาดฝีดาษลิงในยุโรปยังคงต่อเนื่อง และคาดว่าจะเห็นผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 

นางสมอลวูด ระบุว่า จำเป็นต้องสกัดการระบาดไวรัสชนิดนี้ และหยุดการแผ่เชื้อฝีดาษลิงในยุโรป 

ผู้จัดการด้านโรคฝีดาษลิงขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวย้ำว่า ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคนี้จะหายเองโดยไม่ต้องรักษา และยังไม่พบโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและพบเห็นบ่อยขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ WHO มีการตรวจพบผู้ป่วยมากกว่า 18,000 รายทั่วโลกนอกแอฟริกาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/1018225?anf=